有觉性 以安住且中立的心 照见身心的实相

D24.84《隆波帕默尊者开示》-2024年10月5日

来自法藏
Luangpor Pramote Pamojjo


聞 · 法

center

center


สติทำให้เกิดสมาธิและปัญญา การปฏิบัติอย่าใจร้อน ค่อยๆ ฝึกไป แต่มีสติไว้ รู้สึกกายรู้สึกใจไป ความทุกข์มันอยู่ที่กาย ความทุกข์มันอยู่ที่ใจ เราพามันเรียนรู้ไป เรียกรู้ทุกข์ การที่เรารู้กายรู้ใจเรียกว่ารู้ทุกข์ ถ้าเข้าใจความจริงของร่างกาย ใจมันก็ปล่อยวางกายก็ไม่ทุกข์เพราะกาย กายทุกข์แต่ใจจะไม่ทุกข์ เรียกเข้าใจความจริงของจิตใจ ใจก็ไม่ยึดถือสิ่งทั้งหลายทั้งปวง จิตใจก็ไม่ทุกข์


ถ้ารู้จักพอ มีความสุข ในโลกน่าสงสาร ทุกคนแสวงหาความสุข ดิ้นรนกันไปเรื่อยๆ แล้วมันก็ไม่เคยอิ่ม ไม่เคยเต็ม เพราะในโลกมันไม่ได้มีความสุขจริง มันหลอกเราเป็นเหยื่อของมาร มารไม่ต้องการให้ใครพ้น หลุดพ้นจากอำนาจของเขา เขาเอาเหยื่อมาล่อ คนส่วนใหญ่ก็ติดเหยื่อ เหยื่อก็คือรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ สิ่งที่สัมผัสร่างกาย เหยื่อ ให้ใจเราหิว อยากเห็นรูปที่พอใจ อยากได้ยินเสียงที่พอใจ อยากได้กลิ่น อยากได้รส อยากได้สัมผัสที่พอใจ เที่ยวแสวงหากันไป ดิ้นรนเหน็ดเหนื่อยมากมาย ที่จริงก็คืออยากได้ความสุข

แล้วการจะได้มาซึ่งความสุขนั้น ก็ต้องดิ้นรนมากมาย ต่อสู้แย่งชิง ทุกข์ตั้งแต่ยังไม่ได้เจอความสุขแล้ว ทุกข์ตั้งแต่เดี๋ยวนี้เลย ก็แค่ฝันว่าวันหนึ่งจะมีความสุข ก็ฝันมาตั้งแต่เด็กจนกระทั่งแก่ ฝันว่าจะได้ความสุข ก็ดิ้นรนไป น่าสงสารคนในโลก เราโดนมารคือกิเลสของเรานั่นล่ะ หลอกล่อให้เราวิ่งพล่านๆ ไปทั้งชีวิต แสวงหาสิ่งนั้นสิ่งนี้ไปเรื่อยๆ หาทรัพย์สินเงินทอง หาชื่อเสียงเกียรติยศ หาโน้นหานี้ไป หาลูก หาเมีย หาสามี สุดท้ายมันก็ว่างเปล่า

ดูตอนนี้ ผู้ที่มีชื่อเสียงที่สุดเลยคือคุณหมูเด้ง คุณหมูเด้งมีชื่อเสียง คุณหมูเด้งทำอะไรวันๆ กินๆ นอนๆ อันนั้นเป็น Basic minimum needs ชื่อเสียงเกียรติยศอะไร คุณหมูเด้งไม่สนใจ อันนี้ไม่ใช่ไม่สนใจเพราะฉลาด แต่ไม่สนใจเพราะเขาไร้เดียงสา คนมันคิดมากกว่าคุณหมูเด้ง ก็อยากเด่น อยากดัง อยากโน้น อยากนี้ไปเรื่อยๆ หมูเด้งแค่มีกินมีนอน ก็สบายใจแล้ว มีความสุขแล้ว ความต้องการเขาน้อย

คนเราความต้องการเยอะ มีกินยังไม่พอ ก็ยังต้องมีเยอะๆ ต้องกินนั้นต้องกินนี้ กินของแพงได้แล้วก็มีความสุข มีชื่อเสียง แย่งชิงกันทุกสิ่งทุกอย่าง เวลาผ่านไปเราจะรู้เลยว่าโง่แท้ๆ เลย อย่างบางคนมันอยากใหญ่ อยากใหญ่ไม่เลิก แก่จะเข้าโลงอยู่แล้ว ยังอยากใหญ่ไม่เลิก อยู่บ้านเลี้ยงหลานดีๆ ก็มีความสุขได้ ก็ไม่พอ วิ่งพล่านๆ ไปเรื่อยๆ ให้คนเขาด่า พวกนี้ไม่รู้จักพอ ถ้ารู้จักพอ ยินดีพอใจ ในสิ่งที่มีที่เป็น แต่ไม่ใช่ชั่วแล้วพอใจ หมายถึง พอใจในสิ่งที่มีที่เป็นที่ดีๆ เราทำเต็มที่แล้ว ถ้ารู้จักพอมีความสุข

ถ้าอยู่มาจนแก่แบบหลวงพ่อ เห็นคนมาเยอะ เห็นโลกมาเยอะ เห็นคนหัวเราะ เห็นคนร้องไห้ เห็นคนตายเยอะแยะ เข้าใจโลก เข้าใจชีวิตมากขึ้น ใจไม่ค่อยดิ้น ใจมันสงบสุข นี่ดิ้นกันแย่งอะไรโน้นแย่งอะไรนี้กัน สุดท้ายก็ว่างเปล่า ไม่มีอะไร เหนื่อยในการที่แย่งชิง แย่งชิงมาได้ก็เหนื่อยในการรักษา เหนื่อย แล้วสุดท้ายสมบัติของโลก มันก็ย่อมเป็นของโลก ไม่ใช่ของเรา สุดท้ายก็ต้องคืนโลกไปทั้งหมด เหนื่อยเปล่าๆ แล้วก็ไม่ได้อะไรมา นอกจากความทุกข์

เรายังมีบุญ พวกเราได้ยินได้ฟังธรรมะ รู้วิธีปฏิบัติ การปฏิบัติมันก็ไม่ได้ยากเย็นอะไร เบื้องต้นตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ก่อนเท่านั้นล่ะ แล้วก็หัดเจริญสติไป สติเป็นตัวรู้ทัน ร่างกายมีอยู่ รู้สึก จิตใจมีอยู่ รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก หัดไปเรื่อยๆ เบื้องต้นจะหัดจากการรู้สึกกายก่อนก็ได้ หรือจะรู้สึกเวทนาก่อนก็ได้ หรือรู้สึกจิตก่อนก็ได้ ส่วนธัมมานุปัสสนายาก เอาไว้ทีหลัง

อย่างเราจะมีสติรู้สึกร่างกาย ร่างกายหายใจอยู่ก็รู้สึก คนใจลอยขาดสติ ใจลอยคิดเรื่องโน้นเรื่องนี้ ร่างกายหายใจออกหรือหายใจเข้าก็ไม่รู้ ร่างกายยืน หรือเดิน หรือนั่ง หรือนอน ไม่รู้ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ไม่รู้ หัดรู้เสียบ้าง คนทั่วไปมันไม่รู้ เพราะมันหิว มันติดเหยื่อของมาร มันมัวสนใจรูปภายนอก สนใจเสียง สนใจกลิ่น สนใจรส สนใจสิ่งที่มาสัมผัสร่างกาย ไม่สนใจร่างกายของตัวเอง

ลองกลับข้าง แทนที่จะหลงไปที่รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสภายนอก แล้วก็ตกเป็นทาสของกิเลส ตกเป็นทาสของมารเรื่อยๆ ไป ก็ย้อนกลับเข้ามารู้สึกที่ร่างกายของเรา ไม่ได้เพ่ง ถ้าเพ่งก็ไม่ถูก แค่รู้สึก พระพุทธเจ้าไม่เคยสอนให้เพ่งหรอก ท่านบอก “ภิกษุทั้งหลาย ให้คู้บัลลังก์ ตั้งกายตรง ดำรงสติเฉพาะหน้า หายใจออกยาว รู้ว่าหายใจออกยาว” ไม่ได้บอกให้เพ่งลมหายใจ “หายใจเข้ายาว รู้ว่าหายใจเข้ายาว” ไม่ได้ให้เพ่งลมหายใจ “หายใจออกสั้น รู้ว่าหายใจออกสั้น หายใจเข้าสั้น รู้ว่าหายใจเข้าสั้น” ไม่ได้บอกให้เพ่งลมหายใจ

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อยืนอยู่ให้รู้ชัดว่ายืนอยู่ เมื่อเดินอยู่ ก็รู้ชัดว่าเดินอยู่ เมื่อนั่งอยู่ก็รู้ นอนอยู่ก็รู้” มันยากอะไรที่จะรู้ว่าตอนนี้นั่งอยู่ เราไม่รู้หรอกว่า การที่เรารู้ร่างกายหายใจ ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้บ่อยๆ จิตมันจำสภาวะได้ แล้วสติมันจะเกิดเอง อย่างเราจำ จิตใจมันจำได้แม่น ตอนนี้หายใจออก หายใจเข้า ยืน เดิน นั่ง นอน รู้ จำร่างกายนี้ได้แม่น ไม่หลงลืม พอร่างกายขยับนิดเดียว สติเกิดเอง

สติเป็นอนัตตา สั่งให้เกิดก็ไม่ได้ ก็ต้องทำเหตุของสติ เหตุของสติเรียกว่า “ถิรสัญญา” การจำสภาวะได้แม่น หมายรู้บ่อยๆ ต้องหมายรู้บ่อยๆ มันก็จำแม่น หมายรู้ร่างกายที่หายใจออก หายใจเข้า คอยรู้สึกไป พอรู้สึกจนชำนาญ ต่อไปจังหวะการหายใจของเราเปลี่ยนนิดเดียว เรารู้สึกตัวเลย สติจะเกิด จิตจะตื่นขึ้นมา


การปฏิบัตินั้นง่ายจนนึกไม่ถึง ฉะนั้นการปฏิบัติ มันไม่ได้ยากเย็นแสนเข็ญอะไรหรอก มันง่ายจนนึกไม่ถึง เราชอบมโนเอา ว่า การปฏิบัติต้องทำอะไรที่ไม่ธรรมดา ทั้งๆ ที่ธรรมดาที่สุดเลย ธรรมดา มันง่ายเสียจนนึกไม่ถึง อย่างคนส่วนใหญ่ มันหลงเหยื่อของมาร หลงไปสนใจที่รูป ที่เสียง ที่กลิ่น ที่รส ที่สัมผัส หลงออกไปข้างนอก ของเรากลับมารู้สึกที่ตัวเอง หัดกลับข้างเท่านั้นเอง ตาเห็นรูป ใจเราเป็นอย่างไร เรารู้ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส ใจเราเป็นอย่างไร เรารู้

ช่วงไหนรู้จิตใจไม่ได้ก็รู้ร่างกาย อย่างเราเคยรู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก พอเราขาดสติ เราเห็น ตามองเห็นสาวสวยเดินมา ใจมันชอบ มันชอบ ขยับจะเดินตามไปดูเขา จะไปขอไลน์ ขอเฟซบุ๊ก ขอโน้นขอนี้ จะไปแลกเบอร์ ร่างกายขยับปุ๊บ เราเคยฝึกร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก พอเห็นผู้หญิงสวย จะเดินไปหาเขาเท่านั้น ร่างกายขยับแล้ว สติเกิดเอง รู้ตัวขึ้นมาปั๊บเลย อ้าว เมื่อกี้มันหลง หลงไปดูสาวงาม สติมันจะเกิดลักษณะอย่างนี้

เห็นไหม สติก็ไม่ได้สั่งให้เกิดได้ ไม่ใช่บอกให้เจริญสติ ก็นั่งทำตัวเคร่งเครียด กำหนดโน้นกำหนดนี้ไป ทำด้วยโลภะ อยากดี อยากมีสติ สติไม่ได้เกิดจากความอยาก สติเกิดจากการที่เราเห็นสภาวะบ่อยๆ เราเห็นสภาวะบ่อยๆ เพราะเราคอยรู้บ่อยๆ นึกถึงบ่อยๆ อย่างนึกถึงร่างกายของตัวเองบ่อยๆ รู้สึก แล้วต่อไปพอร่างกายขยับนิดเดียว สติมันรู้เองเลยว่า เฮ้ย เมื่อกี้นี้เผลอ เผลอขยับ สติจะเกิดเอง

หลวงพ่อตอนหัด ทีแรกก็หัดอานาปานสติ สิ่งที่ได้เป็นสมถะ ขึ้นวิปัสสนาไม่เป็น ไม่รู้วิธี มาเจอหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ดูลย์ให้หลวงพ่อดูจิตตัวเอง “อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” ท่านสอนอย่างนี้ ฉะนั้นหลวงพ่อจะไม่ได้เริ่มมาจากการดูกาย อย่างที่พูดให้เราฟังเมื่อกี้นี้ เพราะหลวงพ่อไม่ชอบ จิตมันรู้สึกกายมันตื้นไป จิตมันรู้สึกอย่างนั้น ไม่เห็นมีอะไรเลย ใจมันไม่ชอบ มันชอบอะไรที่ยุ่งยาก ซับซ้อน อันนี้เป็นนิสัย ของง่ายไม่เอา ชอบของยากๆ

หลวงปู่ดูลย์ท่านรู้กมลสันดาน ก่อนท่านจะสอน ท่านนั่งหลับตาเงียบๆ อยู่ตั้งนาน สัก 40 กว่านาทีได้ ลืมตาขึ้นมาท่านก็บอกเลย “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” พอหลวงพ่อได้ยินคำว่า “อ่านจิตตนเอง” ใจมันตื่น ตื่นตัว ตื่นเต้น เออ ทำไมเราไม่เคยเรียนตรงนี้เลย ก่อนหน้านั้นก็ได้ยินได้ฟังแต่ว่า ให้พุทโธพิจารณากาย ครูบาอาจารย์ส่วนใหญ่ก็สอนอย่างนั้น หรือท่านพุทธทาสสอนอานาปานสติ 16 ขั้น ใจมันไม่สนใจ ไม่ชอบ ทำอานาปานสติมันก็สงบไปเฉยๆ

พอหลวงปู่บอกให้ดูจิต มันตื่นตัว เออ จิตอยู่กับเรามาแต่ไหนแต่ไร ทำไมเราไม่เคยรู้จักมันเลย อยู่กับมันแท้ๆ เกิดมาด้วยกัน จนกระทั่งต่อไปก็ตายไปด้วยกันกับเรา แต่เราไม่เคยเห็นมัน ไม่เคยรู้จักมัน พอท่านบอกให้ดูจิต หลวงพ่อก็ตามดูจิตไปเรื่อย จิตสุขก็รู้ จิตทุกข์ก็รู้ จิตเป็นกุศลก็รู้ จิตโลภก็รู้ จิตโกรธก็รู้ จิตหลงก็รู้ จิตฟุ้งซ่านก็รู้ จิตหดหู่ก็รู้ รู้อย่างที่มันเป็น ทีแรกรู้ผิดไปจ้องมัน เพ่งมัน พอเราไปเพ่งจิต จิตมันจะนิ่งๆ ว่างๆ มันจะไปทางอรูป เพราะจิตมันเป็นอรูป

ถ้าเราไปจงใจเพ่งมัน จิตจะเข้าอรูปฌาน มันเพ่งความว่าง เพ่งความไม่มีอะไร อะไรพวกนี้ เพราะจิตไม่มีอะไร ไม่มีตัวตนอะไร ทำผิด ก็ไปทำจิตนิ่งๆ ว่างๆ ไป ผิดอยู่ 3 เดือน ขึ้นไปกราบหลวงปู่ หลวงปู่บอก “ผิดแล้ว ที่ทำอยู่ผิดแล้ว ให้ไปอ่านจิตตนเอง ไม่ใช่ให้ไปแต่งจิตให้นิ่ง ให้ว่าง ไปทำใหม่” ครูบาอาจารย์แต่ก่อนไม่สอนเยอะหรอก สอนไม่กี่คำ คนๆ หนึ่ง คราวนี้หลวงพ่อก็เลยรู้เลยว่า การที่เราไปแต่งจิตให้ว่างๆ ไม่คิดไม่นึกอะไร

หลวงปู่บอกไม่ถูก มันก็คงไม่ถูกจริง เพราะไม่เห็นมันพัฒนาเลย มันก็อยู่แค่นั้น มันไปไหนไม่รอด ก็เลยมานั่งอ่านจิตตนเอง ตาเรามองเห็น เห็นดอกไม้สวย ใจเราชอบ รู้ทันว่าใจชอบ เห็นหมาขี้เรื้อนวิ่งมา ใจเรารังเกียจ รู้ว่ารังเกียจ เห็นหมาบ้าวิ่งมา ใจเรากลัว รู้ว่ากลัว ฝึกดูความรู้สึกของตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่ได้ไปแต่งมันให้มันว่างๆ มันดีก็รู้ มันชั่วก็รู้ มันเป็นกุศลก็รู้ มันเป็นอกุศลก็รู้ รู้อย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ ดูอยู่ 4 เดือน ไม่มีอะไร ดูไปเรื่อยๆ ไม่ได้คาดหวัง

ตอนเด็กๆ ที่นั่งสมาธิ อยากได้มรรคผลนิพพาน มรรคผลนิพพานเป็นอย่างไรไม่รู้ แต่อยากได้ไว้ก่อน เพราะเวลาไปฟังพระเทศน์ ท่านชอบพูดว่าได้มรรคผลนิพพานแล้ว ดีอย่างโน้นอย่างนี้ เราก็อยากได้ แต่พอมาเจอหลวงปู่ดูลย์ ท่านบอกให้อ่านจิตตนเอง หลวงพ่อลืมมรรคผลนิพพานไปเลย มันสนุกกับการเห็นความเปลี่ยนแปลง ของจิตใจตัวเองไปเรื่อยๆ ไม่คาดหวังผลใดๆ ทั้งสิ้น ตราบใดที่เรายังภาวนา แล้วเรายังหวังผล เราจะไม่ได้ ไม่ประสบความสำเร็จ ทำเหตุไปเถอะ ทำเหตุให้พอ ผลมันมาเอง ไม่ต้องอยาก ถ้าอยากแล้วไม่ได้ แสดงว่ายังไม่พอ ใจยังอยากอยู่

เมื่อก่อนเคยไปกราบหลวงปู่สุวัจน์ หลวงปู่สุวัจน์ท่านก็บอก ที่หลวงพ่อภาวนาไม่มีอะไรแล้ว ทิ้งมันไปให้หมดเลย ทิ้งให้หมดเลย ไม่มีอะไรแล้ว ท่านพูดอย่างนั้น เราก็นึก โอ้ ท่านทิ้งได้ เราทิ้งไม่ได้ เรายังไม่พอ ใจเรายังขาดอยู่ แล้วภาวนามาตั้งนาน ลึกลงไปมันรู้ว่า ใจเรายังขาดอะไรบางอย่างอยู่ มันยังพ้นโลกไม่ได้ มันยังขาด ค่อยภาวนามาตั้งนาน ถึงรู้ว่าสิ่งที่ขาดอยู่ คือขาดความรู้แจ้งอริยสัจ 4


เริ่มต้นทางให้ถูก แล้วก็เดินไปทุกวันๆ สิ่งเหล่านี้มันเป็นเอง ขอให้เราเริ่มต้นทางให้ถูก แล้วก็เดินไปทุกวันๆ อย่างเราจะไปเชียงใหม่ เรารู้ว่าไปถนนสายนี้ล่ะ ไม่ใช่จะไปเชียงใหม่ แล้วก็เดินไปเจอเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ อะไรอย่างนี้ จะไปเดินไปเชียงใหม่ไม่รู้ทาง หรือเดินทะลุปราจีนบุรีไป เข้าประเทศอื่นไป อันนี้ไม่ได้เรื่องเลย ไม่รู้ทาง ฉะนั้นเราได้ยินได้ฟังวิธีการปฏิบัติ เรียกว่าเรารู้ทางแล้ว ทางไปเชียงใหม่ไปทางนี้ ใช้ถนนเส้นนี้ พอเรารู้ทางแล้ว เราก็เดินไปตามทางนี้ เหนื่อยก็พัก มีแรงก็เดินต่อ ไม่เถลไถลนาน

อย่างพวกเรา เรารู้แล้ว เราได้ยินได้ฟังแล้ว ว่าการที่เราจะพ้นทุกข์ได้ เราต้องมีสติรู้กายรู้ใจอย่างที่มันเป็นให้ได้ พอรู้ทาง เราก็ต้องปฏิบัติเอา บางครั้งขี้เกียจ ขี้เกียจทำอย่างไร ใครๆ มันก็ขี้เกียจเป็น เพราะเวลาภาวนาใหม่ๆ มันไม่ได้มีแต่ความสุข มันมีความทุกข์ด้วย มันเหนื่อย แต่ภาวนาไปช่วงหนึ่งจะพบว่า ยิ่งภาวนายิ่งมีความสุข

อย่างจิตที่ไม่เคยมีสมาธิ พอสมาธิมันเกิด มีความสุขผุดขึ้นมาเอง ไม่ได้ทำอะไร อยู่ๆ ความสุขก็ผุดขึ้นมา หรือเกิดความรู้ความเข้าใจอะไรขึ้นมา จิตก็มีความสุขขึ้นมา แต่หัดใหม่ๆ มันไม่มี จิตใจมันไม่สบาย มันยังเคร่งเครียด ตั้งอกตั้งใจมาก มันก็เครียด พยายามมากก็ยิ่งไม่ได้ผล บางทีก็เหนื่อย บางทีก็ท้อใจ บางทีก็เบื่อ เป็นธรรมดา ทุกคนเป็นอย่างนั้น ไม่ต้องตกใจ แต่เบื่อแล้วก็ไม่เลิก อย่างเราจะไปเชียงใหม่ เดินมานานแล้ว เราเบื่อแล้ว เบื่อได้ ห้ามไม่ได้ความเบื่อ ก็เบื่อไป แต่เท้าเราก็เดินไปเรื่อยๆ ถึงเวลาควรพักผ่อน มันเหนื่อยแล้ว ก็แวะข้างทางพักผ่อน มีเรี่ยวมีแรงแล้วเราก็เดินต่อ

เวลาเราภาวนา จุดที่เราพักผ่อนคือการทำสมถะ ฉะนั้นเราทำวิปัสสนาไปเรื่อยแล้วมันเหนื่อย ก็ทำสมถะ เหมือนเราจะไปเชียงใหม่ เรารู้วิธีแล้ว รู้เส้นทางแล้วก็เดินไป เหนื่อยนักเราก็พักเสียก่อน เบื่อเราก็เดินต่อไม่หยุด ท้อใจว่ายังอีกตั้งไกล แล้วยิ่งเดินมันจะขึ้นที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ขึ้นเขาขึ้นอะไร ลำบาก มันท้อใจรู้ว่าท้อ ท้อแล้วทำอย่างไร ท้อแล้วก็เดินต่อ ถ้าท้อ หรือเบื่อ หรือขี้เกียจ แล้วไม่เดินต่อ มันก็อยู่แค่นั้น เอาดีไม่ได้

ฉะนั้นถ้าเราภาวนาแล้วเราท้อแท้ใจ เราเบื่อ เราขี้เกียจ ก็ไม่เลิก ก็แค่นั้นเอง ทำต่อไปเรื่อยๆ สะสมของเราไป สะสม มีสติรู้สึกกาย มีสติรู้สึกจิตใจไป ไม่ต้องคาดหวัง ว่ารู้สึกแล้วจะได้อะไร ถ้าเรามีสติรู้สึกกายรู้สึกใจบ่อยๆ สิ่งแรกที่เราจะได้คือสติ หัดรู้กาย หัดรู้ใจเรื่อยๆ เบื้องต้นจะรู้กายก่อนก็ได้ รู้ใจก่อนก็ได้ อย่างหลวงพ่อรู้ใจเอา พวกเราส่วนมาก ไม่มีแรงพอก็รู้กายไป ใจเป็นของละเอียด ถ้าสมาธิไม่พอดูไม่ออก สติไม่แข็งแรงดูไม่ทัน ก็ดูร่างกาย

ร่างกายนั่ง ร่างกายหายใจ ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง ดูไปเรื่อยๆ สิ่งแรกที่จะได้คือสติ แล้วสติที่ระลึกรู้กายรู้ใจ เป็นสัมมาสติ เป็นการเจริญสติปัฏฐาน สติทั่วๆ ไปต่างกับสัมมาสติ พวกเรียนอภิธรรมบางคนบอกว่า สติไม่ต้องใส่คำว่า “สัมมา” ถือว่าดีอยู่แล้ว ก็ในพระไตรปิฎกมีคำว่า “สัมมาสติ” แล้วทำไมจะบอกว่า ไม่ต้องใส่คำว่า “สัมมา” มีการชี้เฉพาะ เป็นสติอะไร สติปัฏฐานถึงจะเป็นสัมมาสติ สติอย่างอื่นเป็นสติธรรมดา เวลาจิตเป็นกุศล มีสติทุกดวงเลย แต่สัมมาสติเป็นสติระลึกรู้กาย ระลึกรู้ใจ

ฉะนั้นการที่เราคอยรู้สึกร่างกาย รู้สึกร่างกาย รู้สึกจิตใจบ่อยๆ สิ่งแรกที่ได้คือสติ พอสติเราดีแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือสมาธิที่ถูกต้อง มีคำว่า “สัมมา” ด้วย สัมมาสติเมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ เห็นไหม ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับการนั่งนาน เดินนานอะไรเลย เพราะพระพุทธเจ้าสอน สัมมาสติเมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ ต้องสัมมาสติ สติอื่นๆ ไม่ทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์

อยากใส่บาตร เช้าๆ เห็นพระอาจารย์มารับบาตร ดูน่าเลื่อมใส ดูผ่องใส เรายินดีพอใจได้ใส่บาตร เราไม่รู้ว่าใจกำลังยินดีอยู่ เราไม่ได้ทำสติปัฏฐาน แต่เราทำกุศลธรรมดา เรียกสาธารณกุศล กุศลธรรมดาอย่างนี้ ไม่ได้ทำให้เกิดสัมมาสมาธิ ต้องสัมมาสติ เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์

ฉะนั้นเราคอยรู้สึกกายรู้สึกใจของเรา เสร็จแล้วสัมมาสมาธิก็จะเกิดขึ้น สัมมาสมาธิเป็นอย่างไร เป็นความตั้งมั่นของจิต จิตใจอยู่กับเนื้อกับตัว ไม่หลงไป ไม่ไหลไป หาอาหารของมาร ไม่หลงไปทางตา ทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย รวมทั้งไม่หลงทางใจด้วย หลงทางใจคือหลงคิด เกิดบ่อย หลงคิด ฉะนั้นเรามีสติบ่อยๆ จิตใจเราก็จะไม่หลงไป ไม่ไหลไป ฉะนั้นสัมมาสติ เมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก ก็จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์

หลวงพ่อตอนที่ภาวนากับหลวงปู่ดูลย์ แล้วท่านบอกหลวงพ่อภาวนาเป็นแล้ว ช่วยตัวเองได้แล้ว หลวงพ่อก็ออกไปดู ดูคนอื่นเขาปฏิบัติ หาประสบการณ์ มันสนใจอยากรู้ว่า เขาเรียนอะไรกัน หลวงพ่อพบว่า แทบไม่มีของใคร แทบไม่มีสัมมาสติ ไม่มีสัมมาสมาธิ สมาธิมี สติมี แต่ไม่ใช่สัมมาสติ ไม่ใช่สัมมาสมาธิ เป็นสติก็สติเพ่ง สติจ้อง สมาธิก็สมาธิเพ่งจ้อง เคร่งเครียด บังคับตัวเอง มันไม่ถูก

เพราะฉะนั้นต้องฝึกสติให้ถูก ให้เป็นสัมมาสติจริงๆ ร่างกายเคลื่อนไหว รู้สึก จิตใจเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลง รู้สึก หัดรู้สึกเรื่อยๆ อย่างจิตเราหลงไปคิด เรามีสติรู้ เฮ้ย หลงคิดแล้ว มีคำว่า “แล้ว” ด้วย เพราะเวลาที่จิตหลงคิด ไม่มีสติอยู่แล้ว สติมาเกิดทีหลัง ตรงที่จิตมันจำสภาวะหลงคิดได้ พอจิตมันหลงคิดไป แล้วจิตมันจำได้ เฮ้ย สภาวะอย่างนี้ จิตที่ไหลๆ ออกไปอย่างนี้ มันหลง นี่มันหลงไปคิดแล้ว จิตมันจำสภาวะได้ สติเกิดปั๊บขึ้นมา สภาวะหลงคิดดับทันทีเลย สภาวะตั้งมั่นคือสัมมาสมาธิ ก็เกิดขึ้นทันที


สัมมาสมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่น ส่วนใหญ่สมาธิเราไปเน้นตรงที่สงบ สัมมาสมาธิไม่ได้แปลว่าสงบ สัมมาสมาธิคือความตั้งมั่น ถ้าเราฝึกจิตของเราให้ดี มันสามารถตั้งมั่นอยู่ท่ามกลางความวุ่นวายได้ ในขณะที่จะทำความสงบ ต้องหนี หลบจากสิ่งที่วุ่นวายไปอยู่คนเดียว อยู่ในถ้ำอะไรอย่างนี้ ก็จะทำง่าย สงบง่าย เพราะไม่มีสิ่งเร้า ก็สิ่งเร้าเหลืออันเดียว คือความคิดของตัวเอง จะคอยระวัง คอยบริกรรม คอยอะไร ถ้าไม่มีสิ่งเร้าจริงก็สงบง่าย

แต่สัมมาสมาธิ อยู่ท่ามกลางวงคอนเสิร์ตเขาเล่น เด็กๆ มันเจี๊ยวจ๊าว ชูไม้ชูมือ มันชูหาอะไรก็ไม่รู้ ชูพร้อมๆ กัน สนุกเหลือเกิน จิตเราตั้งมั่น เราก็จะเห็นรูปรอบๆ ตัวเราเคลื่อนไหวอยู่ เราได้ยินเสียงอึกทึกครึกโครม หนวกหู ตาก็มองเห็นแสงวูบๆ วาบๆ ถ้าใจบางคนมันชอบก็รู้ว่าชอบ แต่หลวงพ่อไม่ชอบแต่ไหนแต่ไร อะไรที่เสียงดังๆ อะไรที่แสงวูบๆ วาบๆ อะไรอย่างนี้ แล้วก็ที่ไหนที่คนเยอะๆ คนหลงๆ เยอะๆ ไม่ชอบ ทีแรกหนี ไม่ชอบหรอก

พอฝึกไปเรื่อยๆ เราพบว่า เราอยู่ท่ามกลางความวุ่นวาย แต่ใจเราตั้งมั่นได้ ใจเราไม่ได้กระเพื่อมขึ้น กระเพื่อมลงตามรูปที่เห็น ตามเสียงที่ได้ยิน ตามกลิ่นที่ได้รับ กลิ่นอะไร กลิ่นเหล้า กลิ่นบุหรี่ เข้าไปอยู่ในผับในบาร์ เสียงก็ดัง หลวงพ่อเคยเข้าไปทีหนึ่ง ตอนนั้นยังไม่บวช เดี๋ยวจะบอกว่าหลวงพ่อเข้าผับเข้าบาร์ โควทตรงนี้เอาไปฟ้องมหาเถรสมาคม ตอนนั้นยังไม่ได้บวช เป็นข้าราชการ เขาไปประชุมต่างจังหวัด เราเป็นผู้น้อยติดทีมเขาเข้าไปด้วย เขาเข้าไปเที่ยวบาร์เที่ยวอะไรกัน เข้าไปเขารู้สึกสนุก คึกกันใหญ่แต่ละคน

เราเห็นปุ๊บ นี่มันนรกชัดๆ เลย มีเสียงสัตว์ในนรกกรีดร้องมากมาย ไฟนรกวูบๆ วาบๆ กลิ่นน้ำทองแดง กลิ่นบุหรี่ กลิ่นอะไรมันฟุ้งไปหมดเลย เข้าไปปุ๊บ ใจมันสลดเลย สลดสังเวช ตั้งแต่นั้นไม่ยอมเข้าไปดูอีกเลย ใจมันรังเกียจ บอกอยู่โลกมนุษย์ดีๆ แล้ว ทำไมต้องตกนรกทั้งเป็น นรกเสียงดังมาก เสียงดังมาก อย่างเราถอดจิตไปดูนรก ถ้ากำลังจิตเราไม่แข็งแรง เข้าใกล้ไม่ได้ เสียงมันสะเทือนเลื่อนลั่นไปหมดเลย เสียงกรีดร้อง เสียงแผ่นดินไหว เสียงไฟ เสียงอะไร เข้าไปนี้ไม่ไหวเลย

แสงของไฟนรกรุนแรงมาก ถ้ากำลังเราไม่พอไปดู เหมือนคนตาบอด ถอยแทบไม่ทันเลย พวกที่หลงสถานบันเทิง ก็คล้ายๆ อย่างนั้นล่ะ คล้ายๆ อย่างนั้น ไม่เอา ไม่ชอบ กระทั่งตามศูนย์การค้า ถ้ามีวัยรุ่นเยอะๆ หลวงพ่อไม่เอา เข้าไปแล้วหัวหมุนติ้วๆๆ เลย ก็ภาวนาอยู่นาน ใจมันเป็นกลาง เวลาใจเราเป็นกลาง เราอยู่ท่ามกลางความวุ่นวาย เราจะเห็นเลยที่กระโดดโลดเต้น ก็แค่รูปที่ตาเห็น เสียงอึกทึกครึกโครม ก็แค่เสียงที่หูได้ยิน กลิ่นเหล้า กลิ่นบุหรี่อะไร ก็เป็นแค่กลิ่น แล้วก็เห็นคนเขาหลง ก็แค่รู้ เห็นเขาหลง ใจเราก็สงบ สงบสุขอยู่ได้ท่ามกลางความวุ่นวาย

อย่างพวกเราบางคนเคยมาถามหลวงพ่อ ว่าเวลาหลวงพ่ออยู่กับคนเยอะๆ คนเป็น 100 เป็น 1,000 หลวงพ่อรู้สึกอย่างไร รู้สึกเหมือนอยู่กับต้นไม้ เห็นต้นไม้โด่ๆๆๆ ก็เราไม่ไปยุ่งด้วย ไม่ไปยินดียินร้ายด้วย ค่อยๆ ฝึก ใจมันจะมีสมาธิขึ้นมา สัมมาสติเมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก ก็จะทำให้สัมมาสมาธิบริบูรณ์ คือจิตมันจะตั้งมั่น สัมมาสมาธิมี 3 ระดับ เบื้องต้นที่เรามีสติรู้เป็นขณะๆ เราจะได้ขณิกสมาธิ และจิตมันจะ บางทีจิตมันก็ต้องการพัก มันก็รวมเข้าไป เข้าไปที่อุปจารสมาธิ เข้าไปที่อัปปนาสมาธิ มันเข้าของมันได้เอง ไม่ต้องเจตนาเข้า

ถ้าจิตต้องการพัก จิตก็พักของเขาเอง แต่ถ้าเรายังไม่ชำนาญพอ เราก็ต้องพามันพัก ถึงเวลาไหว้พระ สวดมนต์ นั่งสมาธิอะไร ก็นั่งไปเถอะ ทำไปเถอะไม่เสียหลายอะไรหรอก แต่ให้มีสติไว้เท่านั้นล่ะ ถ้าขาดสติก็ขาดสมาธิ มีสติที่ถูกต้องก็จะมีสมาธิที่ถูกต้อง นี่ล่ะถ้าเราเจริญสติ อันแรกที่เราได้คือสติ อันที่สอง สมาธิ อันที่สาม ของสำคัญคือเราจะได้ปัญญา ปัญญาคือความรู้ถูกความเข้าใจถูก

อย่างคนทั้งหลาย มันจะรู้สึกว่าร่างกายของเรานี้ เป็นของดีของวิเศษ น่ารักน่าหวงแหน แต่เรามีสติรู้สึกกายบ่อยๆ ด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง ต่อไปเราก็จะเห็น ร่างกายมันไม่ใช่ของดีหรอก ร่างกายมันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่เนืองๆ มีความทุกข์บีบคั้นอยู่เนืองๆ ไม่ถึงขนาดทุกข์ตลอดเวลา หัดใหม่ๆ ยังไม่ทุกข์ตลอดเวลา มันจะทุกข์บ่อยๆ จะเห็นว่านั่งอยู่ก็ทุกข์ เดินอยู่ก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ หิวก็ทุกข์ อิ่มก็ทุกข์ ปวดอึ ปวดฉี่ก็ทุกข์ มันจะรู้สึก โอ้ ร่างกายมีแต่ทุกข์ ร้อนมากๆ ก็ต้องไปอาบน้ำ ไม่มีเงินไปเข้าห้องแอร์ ไม่มีแอร์ก็ต้องไปอาบน้ำเอา หรือไปเดินศูนย์การค้า เพื่อจะได้รับแอร์เย็นๆ ใจมันก็ดิ้นๆๆๆ เราเห็น

ถ้าเราภาวนาเรื่อยๆ เราเห็น ร่างกายมันไม่ใช่ว่าเดี๋ยวทุกข์บ้าง สุขบ้าง ร่างกายนี้ทุกข์ล้วนๆ เลย ร่างกายนี้ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลาเลย ทุกลมหายใจ เราหายใจออกแล้วไม่หายใจเข้า เราก็ทุกข์ หายใจเข้าแล้วไม่หายใจออกก็ทุกข์ ยืนแล้วไม่ได้นั่ง ไม่ได้นอน ก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ นอนอยู่ก็ทุกข์ ต้องนอนแล้วก็พลิกไปพลิกมา พอเรามีสติรู้สึกกาย จิตเราตั้งมั่นอยู่ ปัญญามันเกิด มันเห็นร่างกายนี้ ไม่มีสิ่งอื่นเลย นอกจากทุกข์ ถ้าเห็นอย่างนี้ จิตมันจะปล่อยวางจางคลายแล้ว


จิตบรรลุมรรคผล เมื่อศีล สมาธิ ปัญญาบริบูรณ์ ในกระบวนการที่จิตปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่น จิตเป็นไปเอง พ้นวิสัยที่เราจะทำได้ พระพุทธเจ้าบอกว่า ไม่มีใครทำจิตให้บรรลุมรรคผลได้ จิตบรรลุเองเมื่อศีล สมาธิ ปัญญาบริบูรณ์ ศีล สมาธิ ปัญญา เราจะมีได้ อาศัยสตินี่ล่ะ ถ้าไม่มีสติก็ไม่บริบูรณ์หรอก เพราะฉะนั้นสติจำเป็น หรืออย่างเรามีจิตตั้งมั่น สติเราว่องไว เราก็เห็นจิตเกิดดับ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้คิด เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้ไปดูรูป เดี๋ยวก็เป็นจิตผู้รู้ เดี๋ยวเป็นจิตไปฟังเสียง ถ้าเราฝึกชำนาญ มันจะมีจิตรู้คั่นไปเรื่อยๆ

แต่คนที่ไม่ได้ฝึก ไม่ชำนาญ มันก็จะมีจิตที่หลงไปดูรูป หลงไปฟังเสียง หลงไปดมกลิ่น หลงไปลิ้มรส หลงทั้งวัน หัดภาวนาใหม่ๆ ก็จะหลงไปดู หลงไปฟัง หลงไปคิด แล้วก็เกิดนึกขึ้นได้ เฮ้ย นี่หลงอยู่ ก็เกิดจิตรู้ขึ้นมา นานๆ จิตรู้จะเกิดทีหนึ่ง พอฝึกบ่อยๆ ต่อไปจิตรู้ก็เกิดถี่ยิบขึ้นมา ถี่ยิบขึ้นมา มันจะเหมือนเรามีความรู้สึกตัวอยู่ได้ตลอดเวลา แต่เราจะเห็นว่ามันเกิดดับ แต่ว่ามันเกิดดับปุ๊บลงไป มันก็เกิดทันทีเลย ตัวผู้รู้เองก็เกิดดับๆๆ อยู่ ถึงจุดหนึ่งปัญญามันก็รู้แจ้งแทงตลอดว่าตัวจิตไม่มีอย่างอื่น ตัวจิตนี้เป็นตัวทุกข์ ทุกข์เพราะความไม่เที่ยง ทุกข์เพราะถูกบีบคั้นให้แตกสลาย ทุกข์เพราะว่าไม่อยู่ในอำนาจบังคับ นี่เรียกว่าปัญญา

เพราะฉะนั้นอาศัยการเจริญสติ หัดทำสติปัฏฐานไป แล้วเราจะได้สติ ได้สมาธิ ได้ปัญญา เมื่อเรามีสติ สมาธิ ปัญญาดี ศีลมันดีเอง สติดีศีลมันก็ดี สติดีสมาธิที่ถูกต้องมันก็เกิด ไม่ต้องสั่งให้เกิด ถ้ามีสติที่ถูกต้อง มีสมาธิที่ถูกต้อง ปัญญาก็เกิด ปัญญาไม่ใช่เรื่องคิดเอา แต่เป็นความรู้ถูกความเข้าใจถูกของจิต มันปิ๊งขึ้นมา เข้าใจขึ้นมา เวลาปัญญาเกิด เกิดในชั่วขณะเดียว ไม่เกิดยาวๆ

อย่างถ้าเรานั่งพิจารณาธรรมะไปเรื่อยยาวๆๆๆ อันนี้เป็นปัญญาจากการคิด

แต่ถ้าเป็นปัญญาจากการภาวนา มีสติรู้กายรู้ใจตามความเป็นจริง ด้วยจิตที่ตั้งมั่นเป็นกลาง เวลาปัญญาเกิดมันเกิดชั่วขณะแวบเดียว ความเข้าใจมันเกิดในชั่วขณะเท่านั้น ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า มันเหมือนเราเอาของใส่เกวียน ใส่ไปเรื่อยๆๆๆ ใช้เวลาตั้งนาน จนกระทั่งเกวียนมันรับไม่ไหว สุดท้ายเอาฟางเส้นสุดท้ายใส่ เกวียนหักเลย เกวียนถล่มเลย เวลาที่เกวียนถล่มใช่ไหม ใช้เวลาแวบเดียวเอง ใช้เวลานิดเดียว

ฉะนั้นในเวลาที่ปัญญาจากการภาวนาเกิด มันเกิดในชั่ววูบเดียวเอง ยิ่งโลกุตตรปัญญาเกิดชั่วขณะจิตเดียวเท่านั้นเอง ไม่มี 2 ขณะ แค่ชั่วขณะเท่านั้นเอง เพราะฉะนั้นต่อไปนี้ ตั้งใจรักษาศีล 5 ไว้ก่อน แล้วก็หัดเจริญสติไป จะถนัดรู้กายก่อนก็รู้กาย ถนัดรู้จิตก่อนก็รู้จิตไป แต่ดูจิตไม่ได้ ให้รู้สึกกายไป ร่างกายหายใจออก รู้สึก ร่างกายหายใจเข้า รู้สึก ร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน รู้สึก ร่างกายเคลื่อนไหว ร่างกายหยุดนิ่ง รู้สึก แค่รู้สึก ไม่เพ่งจ้อง ไม่กำหนด

ถ้ากำหนดมันจะกลายเป็นสมถะทันทีเลย มันเจือด้วยโลภะ กำหนด “กำหนด” เป็นคำแผลง รากฐานของคำว่า “กำหนด” คือคำว่า “กด” ก็คือเก็บกดนั่นล่ะ ฉะนั้นเราไปกำหนดโน้น กำหนดนี้ เรากำลังเก็บกด แล้วถึงเวลาที่หมดแรงกดนี้ร้ายมากๆ เลย แบบร้ายยิ่งกว่าคนทั่วๆ ไปที่ไม่ได้ภาวนาอีก เพราะฉะนั้นหัดรู้สึกร่างกายไป รู้สึกเหมือนเราเห็นคนอื่น เห็นร่างกายนี้หายใจ เหมือนเห็นคนอื่นหายใจ เห็นร่างกายยืน เดิน นั่ง นอน เหมือนเห็นคนอื่น

เราไม่ได้ไปแทรกแซงคนอื่นว่า เฮ้ย รีบหายใจเข้าเร็ว เอ้า หายใจออกเร็ว ไม่ได้สั่งคนอื่นได้ เราดูกายนี้ก็เหมือนกัน ดูเหมือนดูคนอื่นไปเรื่อย ต่อไปร่างกายขยับนิดเดียว สติเกิด สติเกิดขึ้นมา แล้วสัมมาสมาธิจะเกิดร่วมด้วย ถ้ามีสติ มีสัมมาสมาธิ ต่อไปปัญญาก็เกิด ปัญญาเกิดมากพอ วิมุตติคือมรรคผลมันก็จะเกิด ตรงนี้เป็นของอัตโนมัติ ทำขึ้นมาไม่ได้แล้ว

ฉะนั้นสรุปก็คือ ไปถือศีล 5 แล้วก็เจริญสติไว้ อย่างจะไปดูหมูเด้งก็ต้องมีสติ ต้องมีสติ ไปดูทีไรมันก็นอนทุกที มันไม่ลุกขึ้นมาเด้งเลย ใจเราก็ลุ้นเมื่อไรมันจะเด้ง เมื่อไรมันจะลุก มันโตแล้วมันไม่เด้งหรอก มันเด้งตอนเด็กๆ มันเหมือนลูกสัตว์ ลูกสัตว์มันก็กระโดดไปกระโดดมา พอมันโตแล้ว มันก็เฉยๆ ก็ได้ช่วงหนึ่งๆ


หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 5 ตุลาคม 2567




Qrcode for iDhamma.png
主题: 中文书籍 · 阿紫翻译 · 中文字幕 · 法谈摘录 · 法译文集
法语微言 · 学篇 · 戒学篇 · 心学篇 · 心念处篇 · 身念处篇 · 慧学篇 · 五蕴篇 · 奢摩他篇 · 毗钵舍那篇 · 觉性篇 · 四圣谛篇 · 八支圣道篇 · 解脱篇
首页 · 历届中文 · ไทย · EN课程总览
中国 C:1 · 2 · 3
泰国 T:1 · 2 · 3 · 4 · 5 · 6 · 7 · 8 · 9 · 10 · 11 · 12 · ☆第13届泰国四念处课程实录
大马 M:1 · 2
远程 E:1 · 2 · 3 · 4 · 5 · 6 · 7
日常 D:2013 · 2014 · 2015 · 2016 · 2017 · 2018 · 2019 · 2020 · 2021 · 2022 · 2023 · ☆2024年度最新视频回放
注:C-国内 · T-泰国 · M-大马 · E-远程 · D-日常 · 帮助文档


媒体平台
法堂直播 ·简版直播 · 法藏资源 · 法宝云盘 · 法讯互助 | 公号:禅窗 · 甘露雨 · 指月录 · 当下就启程吧 · 温柔的法音 · Go Sati
全球: 解脱园 · 甘露雨 · 甘露雨APP · 千聊 · 四念处Podcast-中 · Podcast-EN · Podcast-ไทย · 四念處學會| 海外: YT·Audio-中 · YT-中· YT-ไทย · YT-EN · FB-中 · FB-ไทย · FB-EN · 靜慮林