有觉性 以安住且中立的心 照见身心的实相
ร่างกายโดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา:修订间差异
(创建页面,内容为“ร่างกายโดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา พวกเราเรียนกรรมฐานกันมานาน บางคนเรียนมาหลายสิบปี บางคนเรียนตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นจนอายุเยอะขึ้น ตามวัดต่างๆ ส่วนใหญ่จะเห็นแ…”) |
小 (准备翻译的页面) |
||
第1行: | 第1行: | ||
<languages/> | |||
<translate> | |||
ร่างกายโดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา | ร่างกายโดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา | ||
พวกเราเรียนกรรมฐานกันมานาน บางคนเรียนมาหลายสิบปี บางคนเรียนตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นจนอายุเยอะขึ้น ตามวัดต่างๆ ส่วนใหญ่จะเห็นแต่คนแก่ คือเขาเข้าวัดตั้งแต่อายุน้อย แต่อยู่ไปจนแก่ คนจำนวนมากเข้าวัดก็ได้ประโยชน์บ้าง ไม่ได้ประโยชน์บ้าง ที่จะเข้าใจธรรมะจริงๆ ลึกซึ้งจริงๆ ก็หายากนิดหนึ่ง แต่ว่ามี ไม่ใช่ไม่มี มันอยู่ที่ความตั้งใจของเรา จะฝึกตัวเองแค่ไหน บางคนมีปัญหาชีวิตก็เข้าวัด พอปัญหาชีวิตผ่านไปก็ย่อหย่อน บางคนก็ขยันภาวนา พอมีปัญหาชีวิตก็ภาวนาไม่ไหวอีกแล้ว | พวกเราเรียนกรรมฐานกันมานาน บางคนเรียนมาหลายสิบปี บางคนเรียนตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นจนอายุเยอะขึ้น ตามวัดต่างๆ ส่วนใหญ่จะเห็นแต่คนแก่ คือเขาเข้าวัดตั้งแต่อายุน้อย แต่อยู่ไปจนแก่ คนจำนวนมากเข้าวัดก็ได้ประโยชน์บ้าง ไม่ได้ประโยชน์บ้าง ที่จะเข้าใจธรรมะจริงๆ ลึกซึ้งจริงๆ ก็หายากนิดหนึ่ง แต่ว่ามี ไม่ใช่ไม่มี มันอยู่ที่ความตั้งใจของเรา จะฝึกตัวเองแค่ไหน บางคนมีปัญหาชีวิตก็เข้าวัด พอปัญหาชีวิตผ่านไปก็ย่อหย่อน บางคนก็ขยันภาวนา พอมีปัญหาชีวิตก็ภาวนาไม่ไหวอีกแล้ว | ||
第122行: | 第124行: | ||
วัดสวนสันติธรรม | วัดสวนสันติธรรม | ||
21 กันยายน 2567 | 21 กันยายน 2567 | ||
</translate> |
2024年9月28日 (六) 12:23的版本
ร่างกายโดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา พวกเราเรียนกรรมฐานกันมานาน บางคนเรียนมาหลายสิบปี บางคนเรียนตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่นจนอายุเยอะขึ้น ตามวัดต่างๆ ส่วนใหญ่จะเห็นแต่คนแก่ คือเขาเข้าวัดตั้งแต่อายุน้อย แต่อยู่ไปจนแก่ คนจำนวนมากเข้าวัดก็ได้ประโยชน์บ้าง ไม่ได้ประโยชน์บ้าง ที่จะเข้าใจธรรมะจริงๆ ลึกซึ้งจริงๆ ก็หายากนิดหนึ่ง แต่ว่ามี ไม่ใช่ไม่มี มันอยู่ที่ความตั้งใจของเรา จะฝึกตัวเองแค่ไหน บางคนมีปัญหาชีวิตก็เข้าวัด พอปัญหาชีวิตผ่านไปก็ย่อหย่อน บางคนก็ขยันภาวนา พอมีปัญหาชีวิตก็ภาวนาไม่ไหวอีกแล้ว
งานฝึกตัวเองเป็นงานที่ยากมาก พัฒนาตัวเอง กรรมฐานไม่ใช่งานอื่นหรอก เป็นงานพัฒนาตัวเอง ฉะนั้นต้องอดทนจริงๆ ถึงจะทำได้ มีความทุกข์แล้วท้อแท้ใจ ภาวนาไม่ไหว ก็ต้องอดทน มีความทุกข์ก็ภาวนา มีความสุขก็ต้องภาวนา ธรรมชาติของคนพอมีความสุขก็เผลอเพลินไป สนุกสนานไป ไม่ใช่ธรรมะไม่ดี แต่ว่าคนที่ศึกษาปฏิบัติ มันไม่ค่อยดี ไม่เข้มแข็งพอ ไม่เด็ดเดี่ยวพอ มันก็ว่ากันไม่ได้ของพรรค์นี้ ขึ้นแต่วาสนาบารมี แต่ละคนสะสมมาไม่เท่ากัน
มีโอกาสทำบุญก็ทำ ถ้าไม่มีโอกาสก็ทำกุศลไว้ บางคนเขาเกิดในครอบครัวร่ำรวย พ่อแม่ตามใจ อยากได้อะไรก็ได้ทุกอย่าง แต่เขาเห็นทุกข์เห็นโทษ รู้สึกไม่เห็นมีสาระอะไรเลย สนุกไปวันๆ คนอย่างนี้บารมีเขาเยอะจริงๆ ตัวอย่างอย่างพระยสะ ลูกเศรษฐี ร้องรำทำเพลงแล้วก็รู้สึกว่ามันไม่มีสาระ อุปติสสะ โกลิตะ พระโมคคัลลานะ พระสารีบุตร ก็ลูกเศรษฐี ใช้ชีวิตแบบร้องรำทำเพลง มีอะไรก็เที่ยวไปเล่น เที่ยวเล่นไป แล้ววันหนึ่งเห็นความไม่มีสาระ ของการใช้ชีวิตแบบสิ้นเปลืองเปล่าประโยชน์ สิ้นเปลืองหมายถึงสิ้นเปลืองชีวิตตัวเอง ไม่มีประโยชน์อะไรขึ้นมา สนุกเฮฮาประเดี๋ยวเดียว ก็กลับมาทุกข์เหมือนเดิมแล้ว
อันนี้เป็นตัวอย่างของท่าน ที่ท่านมีบุญมีวาสนามาก ชีวิตท่านสบายแท้ๆ เลย แล้วท่านก็วางโลกที่สนุกสนานนั้นมาภาวนา มีเจ้าชายสิทธัตถะ มีชีวิตทางโลกที่สบาย แล้วท่านก็ทิ้งทางโลกมาแสวงหาสิ่งที่เหนือกว่า บางคนก็ชีวิตลำบาก หาอยู่หากินเป็นขอทาน เป็นอะไรก็มี เป็นโรคเรื้อน เป็นขอทาน เห็นคนเขามาตามวัดเยอะ ก็ตามเข้ามาในวัด กะว่าเดี๋ยวมาในวัดแล้ว ตอนที่เขาแจกอาหารกัน จะได้รับอาหารแจกบ้าง คิดเท่านี้เอง เข้าวัดมาจะมาหาของกิน
แต่ตอนนั้นพระพุทธเจ้ายังเทศน์ไม่จบ ทุกคนก็ยังไม่ไปกินข้าว นั่งฟัง แกก็ฟังด้วย ฟังแล้วแกก็เข้าใจธรรมะขึ้นมา ชีวิตลำบาก แล้วเข้าวัดมาไม่ได้คิดจะมาเรียนธรรมะเลย แต่บุญบารมีมันแก่กล้าพอแล้ว ได้ยินธรรมะนิดเดียวสะกิดใจ ก็เข้าใจขึ้นมา เรื่องเหล่านี้มันพูดยาก เราไม่รู้ว่าเรามีต้นทุนเดิมเท่าไร บางคนมีต้นทุนทางปัญญา แต่ทานไม่ค่อยได้ทำ ท่านก็เป็นผู้มีปัญญามาก แต่ค่อนข้างอัตคัดขาดแคลน บางท่านมีอยู่มีกินเยอะ
ครูบาอาจารย์แต่ละองค์ไม่เหมือนกัน หลวงปู่ดูลย์เป็นพระที่ปัญญามหาศาลเลย เก่งมาก มีปัญญามาก ไม่ใช่แค่ช่วยตัวเองได้ แต่ยังช่วยลูกศิษย์ สอนลูกศิษย์ได้เยอะแยะเลย หลวงปู่มั่นถึงขนาดชมว่า ท่านดูลย์เป็นผู้มีปัญญามาก ท่านสอนลูกศิษย์ได้เก่ง แต่องค์ท่านค่อนข้างยากจน จน อาหารการกินอะไรก็ค่อนข้างลำบาก เพราะคนเมืองสุรินทร์ยุคก่อนยากจน จีวรท่าน เคยเข้าไปกราบท่านบ่อยๆ แต่ก่อน ไปนั่งอยู่แทบเท้าท่าน เห็นท่าน จีวรท่านปะแล้วปะอีก เป็นเรื่องของแต่ละท่าน ไม่เหมือนกัน
ครูบาอาจารย์บางองค์ มีความเป็นอยู่อย่างกับพระราชาเลย ท่านไม่ได้เรียกร้อง ท่านไม่ได้หิว แต่คนเข้าไปซัปพอร์ตมากมาย ท่านก็ไม่ได้ติดอะไรหรอก แต่อาหารการกินของใช้อะไรท่านอย่างเลิศทั้งหมดเลย อันนี้ความแตกต่าง อะไรเป็นเครื่องจำแนก ท่านเข้าถึงความบริสุทธิ์ด้วยกัน แต่ก็ยังมีความแตกต่าง กรรมนั้นเป็นเครื่องจำแนก กรรมเป็นเครื่องจำแนกสัตว์ บางท่านเน้นปัญญา ไม่สนใจเรื่องทำทาน บางท่านก็เน้นทำทาน ไม่ยอมเดินปัญญา บางท่านทำทาน แล้วท่านก็เจริญปัญญาด้วย แต่ละคนไม่เหมือนกัน
ฉะนั้นครูบาอาจารย์ท่านจะสอนบอกว่า “ความดีทั้งหลาย ถ้ามีโอกาสทำก็ทำไว้ ไม่เสียหลายหรอก” ถ้ามีโอกาสทำก็ทำ หลวงปู่ดูลย์สอนอย่างนี้ ท่านไม่ได้บอกว่า ให้ทำแบบไม่ลืมหูลืมตา ทำแบบงมงาย ทำแบบหิวกระหาย อันนั้นได้บุญเล็กน้อยหรอก ไม่ประกอบด้วยสติ ไม่ประกอบด้วยปัญญา ไม่รู้อะไรควร อะไรไม่ควรแค่ไหน เพราะฉะนั้นสิ่งเหล่านี้ มีโอกาสสร้างคุณงามความดีอะไรก็ทำ ถ้าโอกาสผ่านไปแล้ว ท่านบอกอยู่เฉยๆ ก็ได้ อยู่เฉยๆ ดีกว่า ไม่ต้องทุรนทุราย
อย่างตอนนี้น้ำท่วม คนก็ไปช่วยกันเยอะแยะเลย ถ้าเราไม่มีเงิน ไม่มีทอง ไม่มีข้าวของจะบริจาค เราเห็นคนเขาไปช่วยกัน เราปลื้มใจ ยินดีพอใจที่เห็นคนเขาได้สร้างความดี เราได้บุญด้วย เรียกว่าบุญจากการอนุโมทนา ฉะนั้นบุญไม่เสียสตางค์ก็มี อย่างน้ำท่วมที่นี่ก็ส่งของไป ส่งปัจจัยไปช่วย ทำเท่าที่ทำได้ ช่วยเท่าที่ช่วยได้ มีโอกาสก็ทำ ถ้าไม่มีโอกาสก็ไม่ทำ ทำอย่างอื่น กุศลสำคัญ ทำบุญก็ดีอยู่หรอก เอาเป็นเครื่องอาศัย
กุศลเป็นเครื่องที่จะซักฟอกจิตใจเราข้ามภพข้ามชาติได้ มีโอกาสทำบุญก็ทำ ไม่มีโอกาส ทำกุศลไว้ ทำอย่างไรจะเกิดกุศล มีสติไว้ เมื่อไรมีสติ เมื่อนั้นจิตเป็นกุศลเรียบร้อยแล้ว เมื่อไรขาดสติ จิตก็ไม่เป็นกุศล ฉะนั้นสติเป็นเรื่องใหญ่ พวกเราต้องฝึก สติเป็นเรื่องสำคัญ ขนาดที่พระพุทธเจ้าบอกว่า ถ้ายังมีการเจริญสติปัฏฐานอยู่ ธรรมะยังไม่สูญไปหรอก การที่จะได้ผลจากการปฏิบัติก็จะมีอยู่ แต่ถ้าไม่มีเรื่องสติสักเรื่องเดียว ธรรมะนั้นจืด ก็จะเป็นธรรมะโลกๆ ไป เป็นเรื่องทำบุญทำทาน ทำความดีอะไรต่างๆ ไป
เราเข้ามาที่นี่ ฝึกสติให้ได้ แต่ก่อนจะฝึกสติให้ได้ ตั้งใจรักษาศีลเอาไว้ก่อน ถ้าศีลด่างพร้อย แล้วเราบอกเราเจริญสติ เจริญปัญญา มันจะเป็นปัญญามหาโจร เราทำผิดศีล เราก็อ้างธรรมะ อ้างหลักการข้อนั้นข้อนี้ ลวงโลก เพราะฉะนั้นเบื้องต้นของเรา ศีล 5 ต้องมี ใช้คำว่า “ต้อง” ไม่ใช่คำว่า “ควรจะมี” ศีล 5 ต้องมี ศีล 8 ควรจะมีบ้างบางครั้ง เห็นไหมดีกรีไม่เหมือนกัน แต่ศีล 5 ต้องมี เป็นพระก็ต้องถือศีล 5
เมื่อก่อนเคยได้ยินหลวงปู่ดูลย์ ท่านว่าพระบางองค์ บอกอวดว่ามีศีล 227 แต่ลืมศีล 5 ฉะนั้นศีล 5 ก็จำเป็น ตั้งใจรักษาไว้ เจตนางดเว้นการทำบาปอกุศล 5 ข้อนั่นล่ะ เจตนางดเว้นเรียกเจตนาวิรัติ เป็นตัวศีล ตั้งใจไว้ แล้วเราก็พยายามเจริญสติ สตินั้นเกิดจากจิตจำสภาวะได้แม่น สติไม่ได้เกิดจากการสั่งให้เกิด เราสั่งสติให้เกิดไม่ได้ เพราะสติก็เป็นอนัตตา จิตก็เป็นอนัตตา สั่งไม่ได้ แต่ทำเหตุของมัน เหตุที่จะทำให้สติเกิดบ่อย ก็คือจิตจำสภาวธรรมได้แม่น อันนี้ไม่ใช่สติธรรมดา นี้เป็นสติปัฏฐาน
ดูอยู่ในกาย ดูอยู่ในใจของเรา กิเลสมันไม่กล้าเหิมเกริม สติธรรมดา อย่างเราทำอะไรไม่หลงไม่ลืม เดินไม่ตกถนน ขับรถไม่ชนกับใคร บอกมีสติ อันนี้สติโลกๆ แต่สติสำคัญก็คือสติปัฏฐาน เป็นสติที่รู้ตัว รู้กายรู้ใจตัวเอง สภาวะร่างกายก็เป็นสภาวธรรม ความรู้สึกนึกคิด ความรับรู้ทางใจก็เป็นสภาวธรรม เรียกนามธรรม การที่เรามีสติระลึกรู้รูปธรรม มีสติระลึกรู้นามธรรม อันนั้นเป็นการเจริญสติปัฏฐาน สติปัฏฐานต่างกับสติธรรมดาตรงนี้ สติปัฏฐาน พยายามมารู้กายรู้ใจของตัวเอง ไม่ใช่รู้เรื่องอื่นหรอก ไม่ใช่รู้ไปข้างนอก พยายามรู้เข้ามาที่ตัวเอง
แต่ถ้าเราชำนาญ รู้ออกข้างนอกก็มีสติปัฏฐานได้ แล้วก็เห็นไตรลักษณ์ได้ด้วย แต่มันล่อแหลม มันเสี่ยง อย่างเราไปเห็นสาวสวยสักคน เราบอกเราเจริญสติปัฏฐาน ด้วยการดูประกวดนางงาม ถามว่าทำได้ไหม ไปดูประกวดนางงาม แล้วก็เจริญสติปัฏฐาน ทำได้ ถ้าเราชำนิชำนาญพอ แต่ส่วนใหญ่มันทำไม่ได้ พอเห็นผู้หญิงสวย ใจมันวิ่งไปอยู่ที่ผู้หญิงแล้ว มันไม่มีสติ เพราะฉะนั้นการดูออกข้างนอก ก็มีความเสี่ยง
ท่านก็เลย ครูบาอาจารย์ก็เลยแนะนำให้รู้เข้ามาข้างใน ในขณะที่พระสูตรพูด ธรรมะภายใน ธรรมะภายนอก ธรรมะในที่ใกล้ ธรรมะในที่ไกล คือจริงๆ แล้วข้างในก็ได้ ข้างนอกก็ได้ แต่ข้างนอกถ้าไม่มีครูบาอาจารย์ควบคุม โอกาสเสียมันสูง ถ้าดูอยู่ในกาย ดูอยู่ในใจของเรา กิเลสมันไม่กล้าเหิมเกริม อย่างถ้าเรารู้สึกว่า เราเป็นคนสวยคนงาม เราดูลงมาในร่างกาย สังเกตไปเรื่อยๆ มันสวยมันงามจริงไหม
ร่างกายมันเหมือนถุงใบหนึ่ง ถุงหนัง มีรูรั่วจำนวนมาก มีรูรั่วใหญ่ๆ อยู่ 9 รู รูรั่วเล็กๆ เต็มพื้นที่เลย นับไม่ถ้วน แล้วทุกๆ รูนั้น ทั้งรูเล็กรูใหญ่ มีของโสโครกไหลออกมาเป็นนิตย์ เรามีสติรู้สึกร่างกาย เห็นความจริงของร่างกายแล้ว ร่างกายไม่ใช่ของสวยของงามเลย มีสติรู้สึกกายเรื่อยๆ ร่างกายเป็นปฏิกูล เป็นอสุภะ ถ้าเห็นตรงนี้จิตได้สมาธิ สามารถข่มกามฉันทนิวรณ์ได้ ข่มนิวรณ์คือกามฉันทะได้
แล้วเราพัฒนาต่อไป เราดูไป ร่างกายนี้เต็มไปด้วยความไม่เที่ยง หายใจออกแล้วก็ต้องเปลี่ยนเป็นหายใจเข้า หายใจเข้าแล้วก็เปลี่ยนเป็นหายใจออก ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ต้องคอยเปลี่ยนอิริยาบถ เคลื่อนไหว หยุดนิ่ง มันมีอยู่ตลอดเวลา ในร่างกายนี้ เรามีสติรู้ลงมาในร่างกายเรื่อยๆ มันจะมองเลยปฏิกูลอสุภะเข้าไปอีกชั้นหนึ่ง คือไปเห็นไตรลักษณ์ เห็นปฏิกูลอสุภะ มีข้อดีเอาไว้ข่มราคะ ข่มกาม
แต่ถ้าเราเห็นความเป็นไตรลักษณ์ของร่างกายได้ ต่อไปมันจะคลายความยึดถือ จะหมดความยึดถือ ร่างกายเราไม่เที่ยง ดูสิมันจะเที่ยงไหม ตรงไหนเที่ยง หายใจออกแล้วมันก็ไม่เที่ยง หายใจเข้าแล้วมันก็ไม่เที่ยง ยืนแล้วก็ต้องเดิน ต้องนั่ง ต้องนอน ต้องเปลี่ยนอิริยาบถ นอนแล้วก็ต้องนอนพลิกซ้าย นอนพลิกขวา เรารู้สึกลงไปในร่างกาย มีแต่ความไม่เที่ยง ทำไมมันไม่เที่ยง มันถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา นั่งนานก็ทุกข์ เดินนานก็ทุกข์ นอนนานก็ทุกข์
เพราะฉะนั้นร่างกายเปรียบเหมือนกวางตัวหนึ่ง หรืออีเก้งตัวหนึ่ง ถูกความทุกข์ คือหมาล่าเนื้อฝูงหนึ่งไล่ตามกัดทั้งวันเลย ก็ต้องวิ่งๆๆ หนีไป วิ่งหนีไปจนกระทั่งบาดเจ็บมาก วิ่งไม่ไหว ล้มลงตาย ร่างกายนี้ก็เหมือนกัน ถูกความทุกข์กัดทำร้ายอยู่ตลอดวัน เราก็พยายามแก้ พยายามบำบัดไปเรื่อยๆ นั่งนานมันเมื่อย เราก็เปลี่ยนอิริยาบถ มันร้อนมาก เป็นทุกข์ พอความร้อนมากไปก็ไปอาบน้ำ เราพยายามแก้ไขเพื่อให้ร่างกายนี้อยู่รอด เหมือนกวางวิ่งหนีหมาล่าเนื้อ ความทุกข์มันไล่ขย้ำอยู่ตลอดเวลา หนีไม่พ้น สุดท้ายก็บาดเจ็บมากขึ้นๆ พออายุเยอะขึ้น บาดแผลเต็มตัวเลย
หน้าตาของเราก็มีบาดแผล มีตีนกา หน้าเหี่ยว หน้าย่น เนื้อหนังอะไรนี้ก็ถูกสูบออกไปจนเหี่ยวๆ ไปหมดทั้งตัว เป็นร่องรอย เป็นความบอบช้ำ ที่โดนหมาของกาลเวลามันไล่ขย้ำเอา ดูไปเรื่อยๆ ร่างกายนี้ไม่มีสาระแก่นสาร เป็นของไม่เที่ยง เป็นของที่ถูกความทุกข์บีบคั้นอยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งหมดแรงหนีก็ตาย เหมือนกวางถูกหมาไล่กัด กัดไปหลายเขี้ยว หมดแรงจะวิ่งก็ล้มลงไป เขาก็เข้ามากินเนื้อเลย ร่างกายเรานี้ก็เหมือนกัน โดนความทุกข์ขย้ำอยู่ตลอดเวลา มีสติรู้ลงมาก็เห็นร่างกาย ไม่ใช่ของวิเศษหรอก ร่างกายนี้มีแต่ก้อนทุกข์ มีแต่ภาระที่ต้องดูแลรักษา
เมื่อก่อนหลวงพ่อยังไม่ได้บวช หลวงพ่อก็ไม่ถนัดพิจารณากายหรอก เพราะถนัดดูจิต แต่จิตมันก็พิจารณากายเอง พิจารณาลงไป มันรู้สึกเอง ตั้งแต่หัวถึงเท้าภาระทั้งนั้นเลย ภาระบนหัวของเรามีอะไรบ้าง ต้องสระผม บางคนก็ย้อมผม ต้องมาแต่งผมทรงนั้นทรงนี้ ผมหงอกจะทำอย่างไร มีภาระที่ต้องดูแล ผมร่วงจะทำอย่างไร บางคนอายุน้อยก็ผมร่วงเป็นหย่อมๆ แล้ว ทุกข์ไหม ทุกข์ ทุกข์ทางกายหรือทางใจ ทุกข์ทางใจ ที่หัวยังไม่ทุกข์เลย แต่ใจทุกข์แล้ว
หลวงพ่อรู้สึกลงในร่างกาย แล้วรู้สึก เออ ร่างกายนี้ภาระเยอะ ตื่นเช้าขึ้นมาต้องทำอะไร ต้องไปล้างหน้า ไปอาบน้ำ ไปขับถ่าย เสร็จแล้วก็ต้องมาเตรียมแต่งตัว แต่งตัวเสร็จแล้วก็เดินทาง ทำไมต้องไปขึ้นรถ เอาอะไรไปขึ้นรถ ก็เอาร่างกายไปขึ้นรถ จิตมันไม่ต้องขึ้นรถหรอก จิตมันนึกถึงอเมริกา มันก็ถึงทันทีเลย แต่ร่างกายนี้ มันเป็นของที่ต้องแบกเอาไป มันเป็นภาระ แล้วไล่ดูตั้งแต่หัวถึงเท้า ภาระทั้งนั้นเลย เล็บเท้ายาวก็ต้องตัด ขี้ฝุ่นสกปรกเข้าไปอยู่ในเล็บก็ต้องแคะ ต้องล้าง ต้องทำความสะอาด สารพัดภาระที่อยู่ในร่างกาย
“ภารา หะเว ปัญจักขันธา” ขันธ์ทั้ง 5 เป็นทุกข์ นี่แค่ขันธ์เดียวก่อน แค่รูปขันธ์ แค่ร่างกายอันเดียวนี้ นับจำนวนทุกข์ นับไม่ถ้วนเลย บางทีตื่นมา เอ้า ตาแห้ง ตาแห้งๆ วันนี้ ไม่สบายที่ตาอีกแล้ว ตื่นมาวันนี้หูอื้อ ไม่สบายที่หูอีกแล้ว ตื่นมาวันนี้หายใจไม่ค่อยจะออก ร่างกายตีบตัน หายใจไม่สะดวก เต็มไปด้วยภาระ ร่างกายที่ต้องคอยปรนนิบัติมากมาย หาข้าวมาให้กิน ให้กินข้าวเสร็จแล้ว ก็ต้องพาไปขับถ่ายอีก กินอย่างเดียวก็ไม่ได้ โอ๊ย ตอนนั้นจิตมันย้อนมาดูกาย มันสะอิดสะเอียน มันเบื่อหน่าย
ร่างกายนี้น่ารังเกียจจริงๆ เลย ใจมันรู้สึกรังเกียจ เสร็จแล้วอีกช็อตหนึ่ง ใจมันมีปัญญามากขึ้น ร่างกายต้องไปทำมาหากิน จิตไม่ได้ไปทำมาหากินด้วย แต่ไปเดือดร้อนอะไรแทน บอกร่างกายต้องกินข้าว ร่างกายมันก็ไปหาเงินมาซื้อข้าวเอง ร่างกายมันก็ไปเอาข้าวมาใส่ปาก มันก็เคี้ยวของมันเอง แล้วจิตมันไปเบื่อแทนร่างกาย ร่างกายกับจิตมันคนละอันกัน ร่างกายมันทุกข์ ร่างกายมันมีภาระ จิตมันเป็นแค่คนเห็นเท่านั้น ไปยุ่งอะไรกับร่างกาย
ภาวนาค่อยลึกๆๆ ลงไป ทีแรกก็เห็นร่างกาย มันเป็นของไม่สวยไม่งาม เราก็เห็น ต่อมาก็เห็นมันมีแต่ภาระทั้งนั้นเลย ใจก็เบื่อหน่าย พอใจเบื่อหน่าย ใจก็ ทำอย่างไรจะพ้นไปจากร่างกายนี้ มันพ้นไม่ได้ มันมีร่างกาย มันยังไม่ตาย มันยังพ้นไม่ได้ ก็จำเป็นต้องอยู่กับมัน คล้ายๆ เราอยู่กับสิ่งอะไรสักอย่างที่มันมีพิษ แต่เรายังหนีมันไม่ได้ เหมือนบางคนบ้านอยู่ใกล้กองขยะ ที่ทิ้งขยะเป็นภูเขาเลย จะย้ายไปอยู่ที่อื่น ก็ยังไม่มีกำลังจะย้าย ก็จำเป็นต้องอยู่ อยู่กับมัน อยู่กับมันแล้วเห็นทุกข์ เห็นโทษมากมาย
ร่างกายก็เต็มไปด้วยกองขยะ เอาขยะทิ้งเข้าไปตั้งเยอะ เราทิ้งเข้าไปจนมันล้น มันก็ต้องขับถ่ายออกมา ดูไปๆ โอ้ กายนี้ทุกข์ กายทุกข์แล้วกายเคยบ่นไหม กายไม่เคยบ่น แต่กายแสดงความชำรุดทรุดโทรมให้ดู แต่ไม่บ่น มันแก่ให้เราดู มันเจ็บให้เราดู มันตายให้เราดู แต่มันไม่บ่น จิตมันไม่ได้แก่ไปกับร่างกาย มันไม่ได้เจ็บไปกับร่างกาย มันไม่ได้ตายไปกับร่างกาย
ตัวปัญหาไม่ใช่กาย ตัวปัญหาคือจิต จิตมันชอบโวยวาย ร่างกายเป็นอะไรนิดหนึ่ง จิตโอดครวญ ฟุ้งซ่าน วุ่นวาย จิตมันเป็นตัวยุ่งเรารู้สึกร่างกายมีภาระ อย่างที่หัวเรานี้ เราต้องหวีผม จิตไปหวีผมให้หัวเราหรือเปล่า จิตมันไม่ได้ไปหวีผมให้ ร่างกายมันก็อุตส่าห์หวีของมันเอง เราทำผมไป โอ้ น่าเบื่อๆ จิตมันไปเบื่อแทนกาย กายไม่บ่นหรอก จิตมันบ่น ค่อยดูแล้วก็แยก ที่หลวงพ่อทำมันก็เลยแยก เฮ้ย กายมันทุกข์ แต่จิตจะทุกข์หรือไม่ทุกข์ เป็นอีกเรื่องหนึ่ง
ถ้าเราฝึกดีแล้ว จิตมันก็อิสระออกจากร่างกาย ร่างกายก็ทุกข์ไปตามธรรมชาติของมัน มันแก่ มันเจ็บ มันตาย มันหิว มันหนาว มันร้อน มันกระหาย มันปวดอึ ปวดฉี่ มันเมื่อย สารพัดที่จะมีอยู่ในร่างกาย จิตก็เป็นแค่คนรู้คนดูไป ไม่ไปหลงยินดียินร้ายกับมัน เพราะฉะนั้นเวลาพระพุทธเจ้าท่านสอนบอกว่า สาวกของท่าน ความทุกข์มันกระทบที่ร่างกายได้ แต่มันกระทบเข้ามาถึงจิตไม่ได้ ในขณะที่ปุถุชนทั่วไป คนที่ไม่ได้เรียนธรรมะ เวลาร่างกายเป็นทุกข์ จิตมันเป็นทุกข์ด้วย
เพราะฉะนั้นการที่เรามาหัดเจริญสติ รู้สึกกายไปเรื่อย เห็นกายเป็นทุกข์เป็นโทษ แล้วก็ต่อมาสติเราเข้มแข็งขึ้น เราก็เห็นจิตมันอยู่ต่างหาก สติรู้ทัน จิตมันอยู่ต่างหาก มันก็คอยปรุงแต่ง เดี๋ยวก็ไปโอดครวญแทนร่างกาย เดี๋ยวก็ไปหลงรักร่างกาย เดี๋ยวก็ไปโอดครวญเรื่องอื่น เดี๋ยวก็ไปรักเรื่องอื่น ไปเกลียดเรื่องอื่น วุ่นวาย
ฉะนั้นความปรุงแต่ง ดิ้นรนวุ่นวายนี้อยู่ที่จิตทั้งนั้นเลย ร่างกายก็เป็นแค่วัตถุ ไม่ใช่คน ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา เพราะฉะนั้นตัวปัญหาไม่ใช่กายแล้ว ตัวปัญหาคือจิต หลวงพ่อเห็นตัวนี้มาก่อน ก่อนจะเจอหลวงปู่ดูลย์ เห็นตัวปัญหาจริงๆ มันคือจิต กายมันเป็นวัตถุเท่านั้น มันไม่ได้ทุกข์ร้อนอะไรกับใครเขาหรอก ทำอย่างไรเราจะเรียนรู้ กรรมฐานที่สูงกว่านี้ได้ มันรู้อยู่ที่กาย แล้วก็เห็นมีแต่ทุกข์
วันหนึ่ง เล่านิทานหน่อยแก้ง่วงตอนเช้า วันหนึ่งก็นั่งสมาธิแล้วก็มีนิมิต เห็นพระผู้เฒ่าองค์หนึ่งผอมๆ แก่มากเลย ถือผลไม้อะไรกลมๆ ลูกขนาดนี้มาส่งให้ ท่านให้เราก็จะรับ ท่านก็ยังไม่แจก ท่านบอกก่อน “ผลไม้นี้จะเปรี้ยวหรือจะหวาน อยู่ที่เนื้อใจของมัน จิตจะดีจะชั่ว อยู่ที่ตัวของมัน อยู่ที่เนื้อในของมัน ถ้ากิเลสยังแฝงอยู่ข้างใน มันก็ชั่ว” แล้วท่านก็ยื่นผลไม้ให้ แล้วก็ไม่รู้ว่าท่านเป็นใคร อยู่มาอีกประมาณปีหนึ่ง ขึ้นไปกราบหลวงปู่ดูลย์ โอ้ องค์นี้เอง ท่านเคยมาสอนเราเรื่องของจิต คนเราจะดีจะชั่ว ก็อยู่ที่จิตตัวเอง ท่านสอนตัวนี้
ก่อนที่จะไปเจอท่านองค์จริงๆ องค์เป็นๆ ได้ไปอ่านหนังสือของวัดสัมพันธวงศ์ เป็นเรื่องทำเนียบรุ่นหลวงปู่แหวน เหรียญหลวงปู่แหวน วัดสัมพันธวงศ์พิมพ์ เขามีที่เหลืออยู่ตอนท้าย ไม่ได้เกี่ยวอะไรกับหนังสือเล่มนั้นเลย แต่ทำไมคนพิมพ์เอาไปใส่ก็ไม่รู้ มีคนได้ประโยชน์ ที่อ่านตรงนี้แล้วเข้าไปเรียนกับหลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่สุจินต์รู้จักไหม หลวงปู่สุจินต์ สุจิณโณ เดี๋ยวเดือนหน้าท่านก็จะมาที่นี่ ปีหนึ่งนิมนต์ท่านมาสรงน้ำทีหนึ่ง วันเกิด
ที่ไปหาหลวงปู่ก็เพราะหนังสือตรงนี้ หนังสือนี้บอกว่า “จิตที่ส่งออกนอกเป็นสมุทัย ผลที่จิตส่งออกนอกเป็นทุกข์ จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นมรรค ผลที่จิตเห็นจิตอย่างแจ่มแจ้งเป็นนิโรธ อนึ่งธรรมชาติของจิตย่อมส่งออกนอก แต่จิตส่งออกนอกแล้วไม่มีสติ กระเพื่อมหวั่นไหวอยู่เป็นสมุทัย จิตส่งออกนอกแล้วกระเพื่อมหวั่นไหว ผลที่เกิดขึ้นคือทุกข์ ถ้าจิตส่งออกนอกแล้วมีสติ ไม่กระเพื่อมหวั่นไหว เป็นการเจริญมรรค แล้วผลที่ได้ก็คือนิโรธ” แล้วตบท้ายท่อนที่ 3 บอกว่า “พระอริยเจ้าทั้งหลายไม่มีจิตส่งออกนอก ไม่มีจิตกระเพื่อมหวั่นไหว มีสติสมบูรณ์เป็นวิหารธรรมอยู่”
Wording อาจจะเลื่อนนิดหน่อย ไม่เป๊ะๆ แล้ว แต่ท่อนแรกนี้เป๊ะเลย ท่อนที่ 2 นี่ย่อๆ ลงมาเพราะยาว พออ่านตรงนี้มันสะเทือนเข้าถึงใจ เพราะเราเห็นอยู่ก่อนแล้วว่า สุข ทุกข์ ดี ชั่ว เพราะจิตดวงนี้เอง ไม่ใช่เพราะร่างกาย พออ่านธรรมะที่เกี่ยวกับจิต มันสะเทือน มันเข้าถึงอกถึงใจ แล้วดูชื่อบอก “พระรัตนากรวิสุทธิ์” ตอนนั้นท่านยังเป็น “รัตนากรวิสุทธิ์” อยู่ ตอนหลังเป็น “พระราชวุฒาจารย์” แล้วเที่ยวถามคนว่าพระองค์นี้อยู่ที่ไหน เราอยากไปเรียนกรรมฐานด้วย ไม่มีใครรู้จัก
หลวงปู่ดูลย์เป็นพระที่คนไม่ค่อยรู้จัก อุปัชฌาย์หลวงพ่อเป็นหลานหลวงปู่ อยู่กับหลวงปู่มาตั้งหลายสิบปี บอกแต่เดิมหลวงปู่อยู่เงียบๆ แล้ววัดบูรพารามก็ไม่ค่อยมีใครเข้าหรอก ตอนหลังเพราะคุณล่ะ คนเลยรู้จักหลวงปู่ คนเลยเข้ามาเยอะแยะเลยที่วัดบูรพาราม ท่านว่าอย่างนี้ไม่ได้ว่าเรา ท่านชอบ ท่านชอบมากคนเข้าวัด ถามคนอยู่พักหนึ่ง ไปรู้มาว่าชื่อหลวงปู่ดูลย์ คราวนี้ก็ดูเลย หลวงปู่ดูลย์ เช็คประวัติเป็นอาจารย์หลวงปู่ฝั้น
เอาละสิ หลวงปู่ฝั้นมรณภาพไปตั้งหลายปีแล้ว หลวงปู่ดูลย์จะอยู่หรือ จนวันหนึ่งเขาบอกว่าหลวงปู่ดูลย์ยังอยู่ เขาเป็นลูกตำรวจ ให้พวกตำรวจช่วยกันสืบ พอรู้ว่าท่านอยู่วัดบูรพาราม สุรินทร์ รีบขึ้นรถไฟไปหาท่าน ไปเรียนกับท่าน ท่านก็สอนกรรมฐานให้ ก่อนสอนท่านนั่งสมาธิเงียบไปสัก 45 นาที แล้วก็ลืมตาขึ้นมาก็สอน “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” พอได้ยินคำว่า “อ่านจิตตนเอง” มันสะเทือนอีกครั้งหนึ่งแล้ว
ทีแรกอ่านจากหนังสือ ทีแรกมีนิมิตเกิดขึ้น ก็สนใจเรื่องจิต แล้วก็มาได้เจอหนังสือ ใจมันก็สะเทือนขึ้นมา มันเห็นความจริง ถ้าจิตไม่ทุกข์ใครจะทุกข์ ตรงที่อ่านอริยสัจแห่งจิตของหลวงปู่ จิตมันก็อุทานออกมาว่า “ถ้าจิตไม่ทุกข์ ใครจะทุกข์” พอมาเจอท่าน ท่านสอนวิธีปฏิบัติให้ “การปฏิบัตินั้นไม่ยาก ยากเฉพาะผู้ไม่ปฏิบัติ อ่านหนังสือมามากแล้ว ต่อไปนี้อ่านจิตตนเอง” คีย์เวิร์ดคือ “อ่านจิตตนเอง” แล้วตั้งแต่นั้นก็พยายามอ่าน
ทีแรกอ่านไม่เป็นหรอก ท่านให้อ่านเหมือนเราอ่านหนังสือ ท่านบอกให้ไปอ่านหนังสือเล่มนี้ Assign ให้อ่าน เรากลับพยายามไปแต่งหนังสือ นักปฏิบัติที่ว่าดูจิตๆ เกือบร้อยละร้อย แต่งจิต ไม่ได้ดูจิตอย่างที่จิตมันเป็นหรอก ชอบแต่งจิต อย่างเวลาเริ่มนั่งสมาธิ สังเกตไหม พอเริ่มนั่งสมาธิต้องแต่งให้จิตมันนิ่งๆ ก่อน ให้มันขรึมๆ ซึมๆ ซึมได้ที่แล้วบอก แหม วันนี้เราภาวนาดี ภาวนาดีอะไร ไปเป็นเปรต เป็นอสุรกายไม่รู้ตัว เป็นสัตว์เดรัจฉานไม่รู้ตัวเลย นั่งแล้วก็หลง โมหะครอบไป หรือนั่งแล้วก็โลภะครอบไป ก็ไปเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เจ้าทิฏฐิ
ทีแรกหลวงพ่อดูก็ดูผิด ไปแทรกแซงจิต ทำให้จิตนิ่งๆ ว่างๆ แล้ว 3 เดือนไปส่งการบ้าน หลวงปู่บอกทำผิดแล้ว ไปทำใหม่ ให้ไปดูจิตไม่ได้ให้ไปแต่งจิต จิตมีหน้าที่คิดนึกปรุงแต่ง ไปทำจนมันไม่นึก ไม่คิดไม่ปรุง ไม่แต่ง ทำผิด ไปทำใหม่ ครูบาอาจารย์รุ่นเก่าอย่างนี้ ไม่สอนยาว สอนสั้นๆ เราก็ต้องไปดิ้นรนต่อสู้เอา คราวนี้ตั้งหลักใหม่ ท่านบอกให้อ่านจิตตนเอง เราก็เป็นนักอ่าน เราไม่ใช่นักประพันธ์อีกต่อไปแล้ว จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น
ทำได้ไหม จิตเป็นอย่างไร รู้ว่าเป็นอย่างนั้น พูดง่ายๆ แต่ยาก เพราะมันอดทำไม่ได้ อดทำไม่ได้ บางทีก็ทำนิดๆ หน่อยๆ ตั้งใจขึ้นมาอย่างนี้ แล้วก็ดู ถ้าพวกรุนแรง โอ๊ย อย่างกับจะไปกัดกับใครเขา รู้สึกด้วยจิตปกติ อ่านจิตไป ให้จิตมันเคลื่อนไหวเปลี่ยนแปลงทำงานไป ตามธรรมชาติธรรมดา เคลื่อนไหวอย่างไร เปลี่ยนแปลงอย่างไร เวลาตามองเห็นรูป จิตก็เกิดความสุขความทุกข์ เกิดกุศลอกุศล มีสติรู้ทันจิต เห็นผู้หญิงสวย จิตเกิดกามราคะ รู้ว่ามีกามราคะ ไม่ใช่รู้ว่าผู้หญิงสวย
ละความเห็นผิดที่จิตดวงเดียวนี้ ก็จะละความเห็นผิดทั้งหมดได้ คนทั่วไปเห็นผู้หญิงสวย ก็คือผู้หญิงสวย ของเรานักปฏิบัติ นักดูจิต เห็นผู้หญิงสวยจิตเกิดราคะ มีกามราคะ ชอบ รักเขาแล้ว รู้ทันลงไป รู้ตรงนี้เรียกว่าดูจิต หูได้ยินเสียง ได้ยินเสียงด่า จิตเกิดโทสะ ถ้าคนทั่วไปได้ยินเสียงด่า ก็จะหันไปดูใครมาด่ากู เดี๋ยวจะได้ไปตีกัน ส่วนนักปฏิบัติได้ยินเสียงด่า ใจโกรธรู้ว่าโกรธ นี่อ่านจิตตนเอง ไม่ใช่มัวแต่สนใจรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ธรรมารมณ์ภายนอก แต่คอยอ่านจิตใจที่มันเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ
เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นกระทบรส กายกระทบสัมผัส ใจกระทบความคิด มันจะเกิดสุข เกิดทุกข์ เกิดกุศลอกุศลที่จิต ให้มีสติรู้ทัน ไม่ต้องแก้ อย่างเราได้ยินศัตรูด่า หันไปเจอมัน ยิ่งเกลียดหนักเข้าไป ยิ่งโมโหมากขึ้นไปอีก เราเห็นว่าจิตกำลังโมโห จิตกำลังโกรธ แล้วทำอย่างไรดี แก้ดีไหม ไม่ต้องแก้ โทสะอยู่ในสังขารขันธ์ อยู่ในกองทุกข์ หน้าที่ต่อทุกข์คือรู้ ไม่ใช่ละ เพราะฉะนั้นจิตมีโทสะขึ้นมา รู้ว่ามีโทสะ รู้เข้าไปเลย
หรือเห็นผู้หญิงสวย จิตเกิดกามราคะ ไม่ต้องละ กามราคะก็เป็นสังขาร ก็อยู่ในกลุ่มของตัวทุกข์ เป็นสิ่งที่เราต้องรู้ ไม่ใช่ละ แต่ถ้ากามราคะมันรุนแรง ราคะมันรุนแรงขึ้น มันพัฒนาตัวเองขึ้นเป็นสมุทัย เป็นตัวตัณหา ตัวนี้ต้องละ คือถ้ามันเกิดทีแรก มันชอบ ไม่เป็นไร แต่มันเกิดอยากขึ้นมาแล้ว อยากได้แล้ว อยากจะไปฉุดเขาแล้ว อยากจะไปข่มขืนเขาแล้ว ตัวนี้ต้องละ สมุทัยต้องละ ทุกข์ให้รู้ สมุทัยให้ละ สมุทัยมันก็คือตัวตัณหา
ตัณหาคืออะไร คือราคะที่มีกำลังรุนแรง ถ้าราคะธรรมดา ชอบอันนี้ ไม่ชอบอันนี้ อันนี้ให้รู้ อยู่ในกองทุกข์ ฉะนั้นตัวราคะ มันทำได้ 2 สถานะ ในฐานะของทุกข์อันหนึ่ง ถ้ามันรุนแรงมันจะกลายเป็นสมุทัย เป็นตัณหาผลักดันให้จิตของเราดิ้นรนมากยิ่งขึ้น ตรงนั้นต้องละเสีย วิธีละ ถ้าละชั่วคราวก็ละด้วยสติ รู้ทันว่าตอนนี้ใจมันอยากแล้ว อยากไปฉุดคนนี้แล้ว อยากปล้ำคนนี้แล้ว รู้ทัน ตัณหามันจะดับ เพราะตัณหาอย่างไรมันก็คือกิเลส
ถ้าเรามีสติ กิเลสอยู่ไม่ได้อยู่แล้ว ตัณหามันจะดับ แล้วการดับตัณหา จะดับสนิท ถ้าดับอวิชชาได้ ต้องมีปัญญาอย่างยิ่ง ปัญญาอย่างยิ่งคือตัววิชชา รู้แจ้งแทงตลอดในอริยสัจ 4 ถ้ารู้อริยสัจ 4 แล้ว ตัณหาจะไม่เกิดอีก เป็นการละตัณหา โดยที่ทำให้ตัณหาไม่เกิดอีก เพราะฉะนั้นไม่ต้องละเป็นคราวๆ ละแล้วละเลย ละความเห็นผิดที่เดียว ที่จิตเรานี้ ก็ทำลายอวิชชาได้ ไม่ต้องละตัณหา เพราะตัณหาจะไม่เกิดอีกแล้ว
การดูจิตมันประณีต ค่อยๆ ดูไป ขั้นแรกก็ดูง่ายๆ อย่างที่มันเป็นไปเรื่อยๆ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจกระทบอารมณ์ จิตสุข จิตทุกข์ รู้ทัน จิตยินดียินร้าย รู้ทัน จิตโลภ โกรธ หลง รู้ทัน จิตเป็นกุศลก็รู้ทัน จิตเป็นกุศลก็ต้องรู้ทัน เห็นพระอาจารย์บิณฑบาต จิตเป็นกุศล อยากใส่บาตรท่านเป็นคนแรก มีใจเป็นบุญอย่างแรง ปรากฎว่าคนอื่นมาตัดหน้าใส่ไปก่อน รู้สึก แหม บุญเราแหว่งไปแล้ว ที่แท้ทีแรกบุญเต็มบาตร ตอนนี้พร่องไปหน่อยหนึ่งแล้ว อันนี้อกุศลเอาไปกินแล้ว โลภะเอาไปแล้ว
ฉะนั้นจิตเรามีกุศล เราก็รู้ทัน กุศลสำเร็จ เราดีใจ เราก็รู้ทัน กุศลเราทำไม่สำเร็จ เสียใจเราก็รู้ทัน คอยรู้ทันตัวเองไปเรื่อยๆ ทั้งสุข ทั้งทุกข์ ทั้งดี ทั้งชั่ว คอยรู้ไป สุดท้ายแล้ววันหนึ่งปัญญามันจะเกิด ปัญญาขั้นต้นมันจะเกิดว่า จิตนี้ไม่ใช่ตัวเรา เมื่อจิตไม่ใช่เรา ขันธ์ 5 ซึ่งเป็นผลผลิตของจิต ก็ไม่ใช่เรา โลกธาตุทั้งหมดที่แวดล้อมอยู่ก็ไม่ใช่เรา ฉะนั้นละความเห็นผิดที่จิตดวงเดียวนี้ล่ะ ก็จะละความเห็นผิดทั้งหมดได้
เพราะฉะนั้นเวลาตัดกิเลส เวลาอริยมรรคตัดกิเลส ตัดลงที่จิต พอจิตล้างความเห็นผิดได้ ทุกสิ่งทุกอย่าง ขันธ์ 5 ทั้งหมด โลกทั้งหมด ไม่มีเราแล้ว เพราะจิตไม่เป็นเรา แล้วภาวนาต่อไป ปัญญาแก่กล้าขึ้น ก็จะเห็นในส่วนของรูป รูปไม่มีอะไร รูปมีแต่ทุกข์ จิตก็ปล่อยวางรูปได้ เมื่อปล่อยวางรูปได้ มันก็จะปล่อยวางตา หู จมูก ลิ้น กายได้ เมื่อปล่อยตา หู จมูก ลิ้น กายได้ กามราคะและปฏิฆะจะไม่เกิดขึ้น
เพราะถ้าเรายังยึดตาอยู่ ทำไมยึดตา เพราะตาพาให้เราเห็นรูปที่น่าพอใจ เราเห็นแล้วตาก็ไม่มีสาระ รูปที่ตาไปเห็น มันจะไปมีสาระได้อย่างไร มันก็จะเห็นทั้งอายตนะภายใน อายตนะภายนอก รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ไม่มีอะไร มีแต่เป็นวัตถุ เป็นวัตถุทั้ง 2 ฝั่ง ทั้งอายตนะภายใน ภายนอกอันนี้ ตา หู จมูก ลิ้น กาย อายตนะภายใน รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ เป็นอายตนะภายนอก ไม่มีอย่างอื่น มีแต่ทุกข์
ถ้าเมื่อไรสามารถเห็นว่าร่างกายนี้คือทุกข์ได้ ก็จะปล่อยวางตา หู จมูก ลิ้น กาย ปล่อยวางรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะได้ กามราคะและปฏิฆะก็เป็นอันไม่เกิด มันถูกทำลายโดยการที่มันไม่เกิด ที่มันไม่เกิด เพราะเรารู้แจ้งแทงตลอดในรูป ในกายนี้ จนเราหมดความยึดถือในกาย แล้วภาวนาต่อไป จนกระทั่งจุดสุดท้าย การภาวนามันจะบีบวงเข้ามาที่จิต สุดท้ายมันก็จะเห็น ตัวจิตเองก็ตกอยู่ใต้ไตรลักษณ์ หมดความยึดถือจิต ก็หมดความยึดถือขันธ์ 5 หมดความยึดถือโลก
ในขั้นโสดาบันกับพระอรหันต์ แตกต่างกัน พระโสดาบันล้างความเห็นผิดว่าจิตเป็นเรา เพราะฉะนั้นไม่มีอะไร ทั้งขันธ์ 5 ทั้งโลก ไม่ใช่เรา พระอรหันต์หมดความยึดถือจิต เพราะฉะนั้นก็หมดความยึดถือขันธ์ 5 หมดความยึดถือโลกทั้งโลก ไม่ยึดถืออะไรสักอย่างหนึ่ง เราจะดูจิต เราก็ต้องดูให้มันถึงอกถึงใจแบบนี้ บางคนบอกดูจิตแล้ว ไปนั่งจ้องให้มันว่างๆ นิ่งๆ อยู่ อันนั้นไม่ใช่ดูจิต อันนั้นไปเพ่งความว่างอยู่ เพราะฉะนั้นทำก็ทำให้ถูก แล้วมันไม่ยากหรอก มันยากเพราะทำไม่ถูกกับทำไม่พอ
หลวงปู่ปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 21 กันยายน 2567