有觉性 以安住且中立的心 照见身心的实相

เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา:修订间差异

来自法藏
无编辑摘要
无编辑摘要
第109行: 第109行:




<gallery>
[[文件:Minifloral9.png]]
[[文件:Minifloral9.pnp|缩略图]]
 
</gallery>


ฉะนั้นคำว่าไม่มีเวลาปฏิบัติไม่มีในสารบบของเราหรอก หลวงพ่อถึงเคยบอกไว้ตั้งแต่นานแล้วว่านักปฏิบัติไม่เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อมหรอก สภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไร เราปฏิบัติได้ทั้งนั้น ในสภาวะที่แย่ๆ ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ เราก็ปฏิบัติได้
ฉะนั้นคำว่าไม่มีเวลาปฏิบัติไม่มีในสารบบของเราหรอก หลวงพ่อถึงเคยบอกไว้ตั้งแต่นานแล้วว่านักปฏิบัติไม่เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อมหรอก สภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไร เราปฏิบัติได้ทั้งนั้น ในสภาวะที่แย่ๆ ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ เราก็ปฏิบัติได้

2023年2月5日 (日) 11:51的版本

เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา

ดี เวลานั่งรอก็ภาวนาไปด้วย ใช้ได้ นั่งรอฟังเทศน์ บางคนก็ฟุ้งไปเรื่อยๆ จะได้อะไรขึ้นมา

การปฏิบัติจริงๆ มันไม่ได้ยากนักหรอก จับหลักให้แม่นๆ ทำให้ต่อเนื่อง แล้วจะค่อยพัฒนาขึ้นเรื่อยๆ หลวงพ่อภาวนาตั้งแต่เป็นโยม รู้ดีเลย ชีวิตฆราวาสต้องต่อสู้อะไรมากมาย ตอนเช้าต่อสู้กัน แย่งกันไปทำงาน แย่งถนนกัน แล้วชีวิตทั้งวันวุ่นวาย ยุ่งกับคนมากมาย มีเรื่องจุกจิกกวนใจตลอดเวลา พอเราต้องยุ่งเกี่ยวกับคน สิ่งที่ตามมามันไม่ใช่เรื่องงานอย่างเดียว มันเป็นเรื่องคนด้วย ยุ่ง จุกจิกๆ เราจะปฏิเสธสิ่งเหล่านี้ก็เป็นไปไม่ได้ อยู่กับโลก อยู่กับคน มันก็ยุ่งนั่นล่ะ จะคาดหวังว่าทุกวันไม่มีใครยุ่งกับเรา มีเวลาภาวนาเยอะๆ มันเป็นไปไม่ได้

เรามีหน้าที่ พยายามทำหน้าที่ของเราให้ดี ท่านสอนเรื่องสัมมาอาชีวะไว้ การเลี้ยงชีพ ถ้าเราทำงานที่มันจัดอยู่ในกลุ่มของสัมมาอาชีวะ เราตั้งอกตั้งใจทำไป อย่างเราเป็นหมอ เป็นพยาบาลอะไรอย่างนี้ ทำหน้าที่ของตัวเอง เหนื่อยไหม เหนื่อย ยุ่งไหม ยุ่ง อย่างพยาบาลทำงานหนัก คนไข้ก็มักจะด่าด้วย คนไข้ไม่ชอบ ไม่ได้อย่างใจ ถ้ารู้จักวางใจไม่เป็น ก็เหมือนตกนรกอยู่ทั้งวัน


==== ทำหน้าที่ของเราให้ดี คอยดูจิตใจของตัวเอง แล้วสิ่งที่เราทำมันจะสะอาดหมดจด ====


อย่างเราทำงาน เราต้องอยู่กับคนที่เราไม่ชอบอย่างนี้ มันเหมือนเราตกนรกทั้งวันอยู่แล้ว หรืองานมันจุกจิกกวนใจมาก เหมือนตกนรก ไม่มีความสุข แต่ถ้างานของเรา มันเป็นสัมมาอาชีวะ งานซึ่งมันไม่เบียดเบียนตัวเอง ไม่เบียดเบียนคนอื่น ทำมาหากินสุจริต ตั้งอกตั้งใจทำไป ถือว่าเป็นหน้าที่ แล้วมองให้ออกว่าสิ่งที่เราทำนั้นมันมีประโยชน์อะไร ประโยชน์ต่อตัวเราเอง ได้เงินได้ทองมา ประโยชน์ต่อสังคมมีไหม

ยกตัวอย่าง อย่างหมอทำประโยชน์ ถ้าคิดให้ดี เรากำลังทำบุญอยู่ตลอดเวลา ช่วยรักษาคน หรือเป็นทนาย เป็นอัยการ ผู้พิพากษาอะไรอย่างนี้ ทำไปอย่างสุจริต ก็คิดว่าไปช่วยสร้างความสงบสุขในสังคม คือคิดให้มันเป็นบุญไว้ แต่สิ่งที่ทำนั้นไม่ใช่อกุศลแล้วคิดว่าเป็นบุญ อย่างเราเลี้ยงหมู เลี้ยงปลา เลี้ยงอะไรอย่างนี้ ถึงเวลาขาย ดีใจได้เงิน แล้วบอกว่าเราทำความดี ทำให้คนมีอาหารกินอะไรอย่างนี้ เจตนาลึกๆ ไม่ได้คิดเรื่องว่าจะให้คนอื่นมีอาหารกิน เจตนาเพราะอยากได้เงิน ถ้าวางจิตให้ถูก มันก็เป็นบุญ วางจิตใจไม่ถูก มันก็เป็นบาป ไม่สบาย มีความทุกข์

อย่างพวกเราจำนวนมากหลายสิบคนมาช่วยหลวงพ่อทำงาน งานเยอะ จุกจิก บางทีญาติโยมบางคนก็อารมณ์ร้อน เรียกร้องอย่างโน้น เรียกร้องอย่างนี้ พอไม่ได้อย่างใจก็ด่าก็มี อย่างทีมงานก็ต้องปะทะกับผู้คนมากมาย ทำอย่างไรจะรักษาจิตใจของตัวเองไว้ได้ ทำอย่างไรจะไม่สร้างอกุศลให้เกิดขึ้นกับคนอื่น คนที่มาด่าเรา ถ้าเราด่าตอบ อกุศลเขาก็ยิ่งแรงขึ้น ถ้าเราวางใจให้ดี มันเป็นบุญอยู่ในตัวเองแล้ว งานที่เป็นประโยชน์ในสาขาอาชีพต่างๆ มันสามารถพัฒนาให้มันเป็นบุญได้ทั้งหมดล่ะ

เวลาบางคนบอกว่าเราไม่มีเวลา วันหนึ่งยุ่งวุ่นวาย ทำงานหนักอะไรอย่างนี้ ถ้าเราวางใจได้ว่า งานที่เราทำนั้นเป็นประโยชน์ แล้วเวลาเรานึกถึง นึกถึงว่าเราได้ทำประโยชน์ จิตเราเป็นบุญ แล้วเราจะมีความสุข สมาธิจะเกิดง่ายๆ เลย อย่างเราช่วยกันไลฟ์สด ช่วยกันทำยูทูป ทำเฟซบุ๊คอะไรอย่างนี้ ถ้าเราวางใจผิด บอกเราทำเพื่อความดัง อันนี้เป็นอกุศล แต่ทำเพื่อสงเคราะห์คนที่เขาอยู่ไกลๆ ให้เขามีโอกาสได้รับธรรมะ วางใจอย่างนี้เป็นกุศล เป็นกุศลใหญ่ด้วย อยากให้เขาได้ธรรมะ เป็นธรรมทาน

อย่างทีมทำครัวในวัดอย่างนี้ หลายที่คนทำครัวตกนรก ทำแล้วก็เบียดบังของสงฆ์บ้าง ทำแล้วก็กีดกันหวงแหน จะให้เฉพาะคนรู้จักกิน คนไม่รู้จักก็ไม่อยากให้ อย่างนั้นใจเป็นอกุศล ไม่แปลกหรอก เป็นผีเป็นเปรตอะไรอย่างนั้นขึ้นมา แต่ที่นี่หลวงพ่อฝึกแม่ครัว พ่อครัวแม่ครัว เราเหนื่อยไหม เหนื่อย ให้นึกถึงสิ่งที่เราทำ ไม่ใช่ทำเพื่อตัวเอง แต่ทำเพื่อลดละกิเลสของเราเอง ลดละความขี้เกียจ ลดละความเห็นแก่ตัว มองประโยชน์ของส่วนรวม ทำอาหาร ไม่เฉพาะพระได้ฉัน ออกจากพระไป ญาติโยมก็ได้กินข้าว ไม่หิว ไม่กระหายอะไรอย่างนี้

พอเรานึกถึงว่าทำให้เขาได้อิ่ม ทำให้เขาไม่ทุกข์ทรมานจากความหิวอะไรอย่างนี้ จิตเป็นบุญขึ้นมา มันมีความสุข มีความสุขที่ได้ทำ สิ่งที่ทำเหนื่อยยาก แต่พอเรานึกถึงคุณประโยชน์ จิตใจเราก็มีความสุข มีความสงบ

หลวงพ่อตั้งแต่เป็นโยมเมื่อก่อนนี้ คนมาเรียนธรรมะด้วยไม่ใช่น้อย ตั้งแต่เป็นฆราวาส เหนื่อยไหม เหนื่อย ทำงานก็เหนื่อยอยู่แล้วล่ะ อย่างบางทีเสาร์อาทิตย์อะไร ไม่ว่าง ก็มีคนมาเรียนกรรมฐานด้วยทุกวัน อยู่ในที่ทำงาน ไม่เคยกินข้าวได้สบายสักทีเลย กลางวันมีคนมาเรียนด้วย เราก็ต้องซื้อข้าวให้กินด้วย สอนด้วย เลี้ยงข้าวด้วย แหม บริการเต็มร้อยเลย

วางใจว่าอย่างไร วางใจว่าเรากำลังแทนคุณของพระพุทธเจ้าอยู่ พระพุทธเจ้าค้นคว้าธรรมะนี้มาด้วยความยากเย็น ครูบาอาจารย์รักษาสืบทอดมาด้วยความลำบาก เราจะลำบากนิดหน่อย จะเป็นอะไรไป เพื่อให้ศาสนานี้ยั่งยืนต่อไปสู่คนรุ่นต่อๆ ไป ไม่ให้ธรรมะมาจบลงในมือของเรา เราส่งทอดต่อไปให้ได้ ใจมันคิดอย่างนี้ ฉะนั้นกินข้าว ไม่เคยเอร็ดอร่อยอะไรหรอก กินข้าวก็ต้องนั่งสอนกรรมฐานไปด้วย เสร็จแล้วก็พาไปกินกาแฟอีก เลี้ยงข้าวแล้วเลี้ยงกาแฟด้วย ทำอย่างนี้ไม่ได้มีความสุขของตัวเอง วันหยุดก็ไม่มีวันหยุด

เวลานึกถึงว่าเราได้แทนคุณของพระพุทธเจ้า จิตใจมันอิ่มเอิบ มันเบิกบาน บางวันจิตใจเราวุ่นวาย ทำงานหนัก หัวหมุนติ้วๆ เรานึกถึงสิ่งที่เราทำมาดีแล้ว อย่างเราให้ความรู้ ให้ธรรมะเขา มันเป็นธรรมทาน ให้อาหารกับคนที่หิวโหย ให้เสื้อผ้า ให้ข้าวของ ช่วยให้เขามีความสุข เราก็ลดละความเห็นแก่ตัวของเราไปด้วย เขาก็ได้ประโยชน์ ได้รับความสุขด้วย เรานึกถึงแล้วเราอิ่ม มันอิ่มอกอิ่มใจ

อย่างพวกเทพเขาจะอิ่มบุญอย่างนี้ เขาเรียกว่าอิ่มทิพย์ ไม่ต้องกินข้าว แต่อิ่มทิพย์ เวลาเราสร้างความดีไปเรื่อยๆ ทำด้วยใจที่บริสุทธิ์จริงๆ ดูได้อย่างไรว่าทำไปด้วยใจที่บริสุทธิ์ไหม คือทำเพื่อจะเอา หรือทำเพื่อจะลดละ ถ้าเราทำเพื่อจะเอา ใจเราไม่สะอาดจริง ถ้าเราทำความดีเพื่อลดละความเห็นแก่ตัว ลดละความขี้เกียจ ลดละความอยากอย่างโน้น อยากอย่างนี้ อยากเด่น อยากดัง อยากใหญ่ ลดละ อย่างนั้นใจเราสูงขึ้น

เพราะฉะนั้นเวลาเราดำรงชีวิต เราคอยวัดใจของเราไป สิ่งที่เราทำนี้ เป็นไปเพื่อความมักมาก เช่น อยากใหญ่ อยากเด่น อยากดัง อยากได้เงินได้ทองอะไรอย่างนี้ หรือเราทำความดีเพื่อลดละกิเลสของเรา คอยดูจิตใจของตัวเอง แล้วสิ่งที่เราทำมันจะสะอาดหมดจด เราไม่ได้ทำอะไรส่งเดชไปหรอก

บอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติเพราะยังไม่เข้าใจคำว่าปฏิบัติ

อย่างมาเป็นทีมอาสาสมัครกับหลวงพ่ออย่างนี้ เราทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม เพื่อพระศาสนา เราไม่ได้ทำเพื่อแสวงหาผลประโยชน์ เพราะทีมงานหลวงพ่อไม่มีเงิน ไม่มีผลประโยชน์ตอบแทนใดๆ ทั้งสิ้นเลย มาทำมันก็เป็นบุญของตัวเอง ฉะนั้นเวลาบางทีเราก็นึก โอ๊ย งานเราก็เยอะ วุ่นวายอยู่กับโลก แล้วยังต้องทำงานพิเศษอย่างโน้นอย่างนี้อีก เราจะเอาเวลาที่ไหนปฏิบัติ ก็ในขณะที่เราทำความดีนั่นล่ะคือเวลาปฏิบัติ

อย่างคนมาด่าเรา ใจเราโกรธ เราไม่ตอบโต้ เรามีศีล เป็นความดีไหม เป็นความดี เห็นไหม เราสามารถสร้างความดีขึ้นในจิตใจเราได้ในทุกๆ สถานการณ์ ฉะนั้นที่บอกว่าเราไม่มีเวลาจะสร้างความดี ไม่มีเวลาปฏิบัติอะไร เพราะยังไม่เข้าใจคำว่าปฏิบัติ ไปคิดว่าการปฏิบัติคือการนั่งสมาธิ เดินจงกรม หลวงพ่อบอกเลย หลวงพ่อภาวนามา นั่งสมาธิ เดินจงกรมพอประมาณเท่านั้น ทำทุกวันล่ะแต่ว่าไม่ได้ทำเยอะ ทำพอให้จิตใจมีเครื่องอยู่ มีที่อยู่ที่อาศัย มีกำลังขึ้นมา แล้วก็เจริญปัญญา

ตรงที่เราทำงานอยู่นั้น เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ อย่างเวลาจะจัดประชุม เราต้องเตรียมข้อมูล เตรียมอะไรมากมาย หัวหมุนติ้วๆ เลย เราก็ดูใจไป ใจมันเบื่อ ใจมันร้อนรน กลัวจะทำไม่ทันอย่างนี้ ดูลงไปเลย เราได้ปฏิบัติอยู่แล้ว พองานเราเสร็จ เราก็รอเวลาประชุม เมมเบอร์มาไม่ครบเสียที ยืดเยื้อ เย็นนี้เราก็จะต้องมีธุระไปโน่นไปนี่ การประชุมก็ล่าช้า เลท เพราะว่าบางคนมันไม่มาง่ายๆ เถลไถล ไม่เคารพเวลาของคนอื่นอะไรอย่างนี้ ใจเรากลุ้มใจ รู้ ใจเราโมโห รู้ หลวงพ่อปฏิบัติธรรม ปฏิบัติอย่างนี้ ปฏิบัติอยู่ในชีวิตจริงๆ นี้ล่ะ

ตื่นเช้ามาไป รอรถเมล์ รถเมล์แน่นมาก ห้อยกันต่องแต่ง ขึ้นไม่ได้ จิตใจกังวล กลัวจะไปทำงานสาย ก็เห็นความกังวล ขึ้นรถได้ ดีใจ รู้ว่าดีใจ เห็นจิตเห็นใจของตัวเองไปเรื่อยๆ คำว่า ไม่มีเวลาปฏิบัติ ไม่มีหรอก ถ้าเรารู้จักการปฏิบัติแล้ว การที่เราสำรวมกาย สำรวมวาจาไม่ทำผิดศีล 5 มันก็เป็นบุญของเราแล้ว เป็นการปฏิบัติธรรม การที่เราเสียสละก็เป็นการปฏิบัติธรรม อย่างแต่ก่อนขึ้นรถเมล์ไปอย่างนี้ คนก็แน่น เมื่อยก็เมื่อย พอได้นั่ง นั่งได้ป้ายเดียว พระขึ้นมาแล้ว จิตเป็นกุศลหรืออกุศล อกุศล หลวงพ่อดูเลย ทุกวันนี้เลยไม่กล้านั่งรถเมล์เลย กลัวคนเป็นอกุศล

เราสามารถปฏิบัติธรรมได้ตลอดเวลา คำว่า ไม่มีเวลาปฏิบัติ เพราะไม่รู้ว่าการปฏิบัติธรรมมันไม่ใช่แค่เรื่องนั่งสมาธิ เดินจงกรม มันเป็นเรื่องการรักษาจิตใจของเรา รักษาจิตใจมีสติคุ้มครองใจไป แล้วไม่ทำผิดศีล จิตใจฟุ้งซ่าน เราอยู่กับเครื่องอยู่ของเราไป จิตใจก็สงบ ได้สมาธิขึ้นมา เราอยู่กับเครื่องอยู่ไป พอจิตใจเราเคลื่อน เรารู้ จิตใจเราไหล เรารู้ เราจะได้ความตั้งมั่นขึ้นมา แล้วพอจิตมันตั้งมั่นมากพอ มันจะแยกขันธ์ได้

ฉะนั้นพวกเราไม่ต้องตกใจ บางคน โอ๊ย แยกขันธ์ๆ จะทำอย่างไร ไม่ยากอะไรหรอก ฝึกจิตใจ พอมันตั้งมั่นไปเรื่อยๆ ทำกรรมฐานไป จิตเคลื่อนแล้วรู้ๆ ไป เดี๋ยวมันก็ตั้งมั่นขึ้นมาเอง พอมันตั้งมั่นมากพอ มันจะเห็นเลย ร่างกายกับจิตคนละอันกัน สุข ทุกข์ ดี ชั่วกับจิตก็คนละอันกัน เห็นจิตเกิดดับ ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ จิตแต่ละดวงๆ เกิดแล้วก็ดับ มันไม่ยากหรอก แต่ขอให้ได้สมาธิที่ดีมาก่อน

การได้สมาธิไม่ใช่แค่นั่งสมาธิเดินจงกรมหรอก เรารู้จักวางจิตใจให้ถูกในทุกๆ สถานการณ์ นั้นล่ะ เราสามารถทำกุศลให้เกิดได้ อย่างบางคน ทางบ้านมีอาชีพเลี้ยงปลา ไม่ได้เลี้ยงไว้สวยงาม เลี้ยงเอาไว้ขาย ถึงเวลาครบเท่านี้วัน เท่านี้เดือน เอาไปขาย ถ้าเราตั้งใจทุกวัน คิดทุกวันเลย เลี้ยงแล้วโตเร็วๆ จะได้เอาไปขาย ได้เงินเยอะๆ อันนี้คิดไปในทางอกุศล

ถ้าเรายังต้องช่วยพ่อช่วยแม่เลี้ยงปลาเลี้ยงสัตว์อะไรอย่างนี้ เราวางใจว่าเรากำลังทำงานเพื่อรับใช้พ่อแม่เรา หรือเวลาเราให้อาหารสัตว์ ไม่ใช่คิดว่าให้มันโตเร็วๆ แล้วจะได้เอาไปขาย วางใจให้เป็นกุศล ให้มันไม่หิว ให้มันอิ่ม ให้มันมีความสุข ในขณะนี้ ในวันนี้ ในวันนี้เรายังไม่ได้ไปทำร้ายมัน สมมติว่าต้องเลี้ยง 2 เดือน 3 เดือนอะไรอย่างนี้ เราก็วางใจให้เป็นกุศลได้ 2 – 3 เดือน วันสุดท้ายเอาไปฆ่า ส่งไป อกุศลไหม อกุศลแน่นอน แต่วางใจเอาไว้ว่าทำหน้าที่ไปๆ อย่าไปยินดีพอใจที่เขาจะเอาสัตว์ไปฆ่า

มันมีอยู่ในอรรถกถาธรรมบท มีผู้หญิงคนหนึ่งเป็นเมียนายพราน ผู้หญิงคนนี้เป็นพระโสดาบัน แล้วเป็นเมียนายพราน ทุกเช้าหุงข้าวห่อเอาไว้ให้สามี ตอนสามีจะออกจากบ้าน ก็ไปหยิบธนู หยิบหอกให้สามี สามีก็ไปล่าสัตว์ คนก็ติเตียนๆ ว่าเป็นชาวพุทธอย่างไร สนับสนุนสามีให้ไปล่าสัตว์ มีการไปฟ้องพระพุทธเจ้า นี่หรืออริยสาวก

ปรากฏว่าพระพุทธเจ้าถามว่าเวลาส่งหอกส่งธนูให้สามีวางจิตว่าอย่างไร บอกว่าวางจิตว่ากำลังรับใช้สามีอยู่ ไม่ได้วางจิตว่าไปฆ่าสัตว์มาให้ได้เยอะๆ คิดแต่ว่าทำหน้าที่ คิดว่าตัวเองทำหน้าที่ของตัวเองอยู่ ไม่ได้ยินดีพอใจในการทำผิดศีลธรรมทั้งหลาย นี่เป็นตัวอย่างให้ฟัง เราต้องรู้จักวางจิตใจของเราให้มันเป็นกุศลไว้ ถ้าเราไม่ฉลาดในจิตของเรา คิดเศร้าหมองไปเรื่อยๆ อย่างเราต้องทำ บางทีเราต้องทำสิ่งที่ผิด ถ้าจิตเราเศร้าหมองไป สมาธิเราเสื่อม


<p align="right">“ถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ บุญมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง

ทำอะไรก็ได้ คำว่าไม่มีเวลาปฏิบัติมันจะไม่เกิดขึ้น”

เมื่อก่อนหลวงพ่อทำงานอยู่ นั่งติดกับหัวหน้ากอง ผู้อำนวยการกองนั่งอยู่โต๊ะติดกัน ตรงกลางมีโทรศัพท์อยู่ หัวหน้ากองแกจะรีบทำงาน แกก็สั่ง ปราโมทย์ ถ้าใครโทรมาถึงพี่ บอกว่าพี่ไม่อยู่ โห เราฟังทีแรกสะเทือนเลย มันให้เราโกหกนี่ ทำอย่างไรดี พอโทรศัพท์มา นึกในใจ อย่าให้ขอคุยกับหัวหน้ากองเลย มันก็ขอคุยกับหัวหน้ากอง เราก็วางใจว่าเราทำหน้าที่เรา เราพูดเบาๆ ถือหูโทรศัพท์ไว้ห่างหน่อย หัวหน้าสั่งว่า ไม่อยู่ครับ จิตเศร้าหมองไหม เศร้านิดหน่อย แต่ว่าอยู่กับโลกจะถือศีลให้สะอาดหมดจดร้อยเปอร์เซ็นต์ยากมาก แต่ต้องมีวิธีผ่อนหนักให้เป็นเบา ไม่ได้โกหกๆ

พอเราพยายามรักษาใจของเราเรื่อยๆ นึกถึงความดีที่เราสร้างไว้ สมาธิมันจะเกิด หรือบางทีมันต้องทำบาป มันจะเป็นบาปเล็กๆ เพราะเราทำไปด้วยความรู้ รู้เหตุรู้ผลอะไรอย่างนี้ ไม่ได้ทำแล้วยินดี อย่างยินดีไปโกหกเขา อันนี้เต็มๆ เลย แต่ว่าหน้าที่สั่งว่าต้องทำอย่างนี้ มีหน้าที่อันนี้ เราก็เลี่ยงเสียหน่อยหนึ่ง แทนที่จะผิดเต็มร้อยก็เหลือผิด 10 เปอร์เซ็นต์ ค่อยๆ ทำ ใช้ชีวิตอย่างมีเหตุมีผล เพราะฉะนั้นไม่ว่าในชีวิตเราจะเหน็ดเหนื่อยสักแค่ไหนในแต่ละวัน จะยุ่งยากสักแค่ไหน ถ้าวางจิตให้ดี สมาธิมันเกิดง่าย

อย่างบางคนเลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ พ่อแม่แก่มากแล้ว ไม่ค่อยรู้เรื่องอะไร หลงๆ ลืมๆ ทำสกปรกทั้งวันเลย บอกอย่างไรก็ไม่ฟัง ทำไมไม่ฟัง เพราะฟังไม่รู้เรื่อง ก็ทำเลอะเทอะสกปรก ถ้าใจเราโมโห นอกจากไม่ได้บุญแล้วยังบาปด้วย ถ้าเราวางใจว่าเราทำให้พ่อให้แม่เรา เมื่อก่อนตอนเราเป็นเด็กเล็กๆ เราก็ทำความสกปรกมากมาย วันหนึ่งอึบ้างฉี่บ้างตั้งหลายรอบ พ่อแม่ไม่เห็นบ่นเลย พอพ่อแม่แก่ทำสกปรก เราโมโหอย่างนี้ เราก็นึกถึงว่าพ่อแม่เคยทำมาให้เรา เราก็ตอบแทนให้ ใจมันก็เป็นกุศล หรือจะให้สูงขึ้นไปอีก ใจเราหงุดหงิด รำคาญพ่อ รำคาญแม่ เราเห็นความหงุดหงิดเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป อันนี้ยิ่งเป็นกุศลที่สูงขึ้นไปอีก มันเป็นการถึงขั้นเจริญวิปัสสนาได้

จะเลี้ยงลูกก็เหมือนกัน เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ก็เหมือนกัน เลี้ยงลูก ชีวิตยังมีความหวัง เลี้ยงพ่อเลี้ยงแม่ไม่มีความหวัง เพราะว่านับวันจะยิ่งแย่ลงเรื่อยๆ เลี้ยงเด็ก วันหนึ่งมันก็หมดภาระไป มันโตขึ้นมา ฉะนั้นเลี้ยงเด็กง่ายกว่าเลี้ยงผู้ใหญ่ วางใจง่ายกว่า เวลาเลี้ยงลูกบางทีก็มีความสุขมากมาย ดูแลพ่อดูแลแม่บางทีไม่ค่อยมีความสุข มันรู้สึกลำบาก แล้วก็ไม่เห็นอนาคตที่ดีขึ้นเลย มีแต่แย่ลงๆ

ถ้าวางใจ วางใจว่าทำด้วยความกตัญญู เราก็เป็นบุญแล้ว เป็นสิ่งที่สมควรทำ เป็นการตอบแทน หรือสูงขึ้นไปอีกคือทำวิปัสสนาไปเลย ก็ดูจิตดูใจของเราไป หรือเราเช็ดอึเช็ดฉี่ให้พ่อให้แม่อย่างนี้ เราเห็นร่างกายมันทำงาน ใจเราเป็นคนรู้คนดู ฝึกอย่างนี้ก็ได้ ฉะนั้นถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติ บุญมีอยู่ทุกหนทุกแห่ง ทำอะไรก็ได้ คำว่าไม่มีเวลาปฏิบัติมันจะไม่เกิดขึ้น

หัดวางจิตวางใจให้ดี วางจิตวางใจให้ถูก มีบุญมีกุศลได้ทั้งนั้น

อย่างที่บอก แค่คนเขาด่าเรา เราไม่ด่ากลับ ก็มีศีลแล้ว ก็เป็นบุญของเราแล้ว ถูกเขาทำร้าย เราไม่ทำร้ายเขา ถูกเขามาขโมยไป เราไม่ไปขโมยใคร เขามาแย่งคนรักของเรา เราไม่แย่งคนรักของใคร เขาโกหกเรา เราไม่โกหกใคร ฟังแล้วโง่ แต่ว่าผ่านไปช่วงหนึ่ง เราจะรู้เลยว่าคุณค่ามันมหาศาลจริงๆ ทุกครั้งที่เรานึกถึงความดีที่เราสร้าง สมาธิก็เกิด รู้จักต่อยอดเข้าสู่การเจริญปัญญา มันไม่ใช่เรื่องยากเกินไปหรอก

จุดใหญ่ ปัญหาใหญ่ของฆราวาส หลวงพ่อพูดเรื่อยๆ ขาดอยู่ 2 ตัว ขาดความต่อเนื่องกับขาดสมาธิ ถ้าทำกรรมฐานต่อเนื่องไป มันก็ได้สมาธิขึ้นมา แต่ต้องทำกรรมฐานที่ถูก ถูกวิธี มีสติกำกับ มันจะได้สมาธิที่ประกอบด้วยสติ คือจะเป็นสัมมาสมาธิ ถ้าสมาธิไม่ประกอบด้วยสติ มันเป็นมิจฉาสมาธิไป

ฉะนั้นเราค่อยๆ ฝึก ทำไปเรื่อยๆ ไม่เห็นจะยากตรงไหนเลย ทำความดีไปเรื่อยๆ อย่าทำความชั่ว แล้วเวลาเรานึกถึงสิ่งที่เราทำที่ผ่านมา สมาธิจะเกิดอัตโนมัติ เพราะจิตใจเรามีความสุขทันทีเลย มันอิ่ม มันอิ่มอกอิ่มใจ ได้สร้างความดี พอสมาธิเกิด เดินปัญญาต่อ ทำให้ได้อย่างนี้แล้วเราจะเจริญในธรรมะ

ตอนที่หลวงพ่อภาวนา ก็เป็นฆราวาสเหมือนพวกเราล่ะ งานเยอะไหม เยอะ เครียดไหม เครียด ต้องเจอคนซึ่งไม่ชอบใจไหม เจอ วันๆ ถ้าภาวนาไม่เป็น อาจจะบ้าตายไปแล้ว โทสะขึ้นทั้งวัน เพราะพื้นจิตของหลวงพ่อเป็นพวกโทสจริต เรากระทบอะไรต่ออะไร หลวงพ่อไม่ชอบยุ่งกับคนแต่ไหนแต่ไร แต่ตอนทำงานต้องยุ่งกับคนมากมาย มาภาวนาแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านสั่ง หลวงพ่อพุธ ท่านเป็นองค์ที่สั่งให้หลวงพ่อไปทำงานเผยแพร่ ไม่ใช่เสร่อออกมาทำเอง ครูบาอาจารย์สั่ง ถึงต้องออกมาทำ

ทำงานเผยแพร่ก็ต้องยุ่งกับคน เป็นของที่ชอบไหม ไม่ชอบ ไม่ชอบยุ่งกับคน แต่มันมีหน้าที่ต้องทำ ก็ต้องทำ ทำไปแล้วเห็นเขาได้รับประโยชน์ ได้รับความสุข เราก็มีความสุขด้วย พลอยยินดี อย่างเห็นคนเขาภาวนาได้ หลวงพ่อก็มีมุทิตาจิตพลอยยินดี อย่างพวกเราชอบพูดกัน เห็นใครเขาทำอะไรดีก็อนุโมทนาๆ ใจอาจจะไม่ยินดีก็ได้ ใจอาจจะอิจฉาก็ได้ หรือใจอาจจะหมั่นไส้ก็ได้

แต่ถ้าเราทำด้วยใจที่สะอาดจริงๆ อย่างเราช่วยกันทำงานเผยแพร่ ทีมงานจำนวนมาก รวมทั้งงานแม่ครัวด้วย ถ้าแม่ครัวไม่หาข้าวให้พระกิน ไม่หาข้าวให้ทีมงานกินอะไรอย่างนี้ ก็ไม่มีแรงทำงาน ฉะนั้นทุกอย่างมันสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันหมดล่ะ ทุกหน้าที่ คล้ายๆ อวัยวะหลายๆ ชิ้นในร่างกาย แต่ละชิ้นสำคัญทั้งนั้น ทำงานเกี่ยวเนื่องกันไป ฉะนั้นอย่างทำครัวก็มีผลต่องานเผยแพร่ด้วย แล้วเวลาเราเห็นคนเขาภาวนาได้ เราดีใจ พอเราดีใจ จิตใจเราเป็นบุญเป็นกุศล มีสมาธิขึ้นมาเลย

“บุญเป็นที่พึ่งอาศัยในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ ส่วนกุศลเป็นเครื่องพาเราออกจากสังสารวัฏ มันคนละระดับกัน บุญคือการสร้างคุณงามความดีทั้งหลาย ผลเป็นความสุข เราจะเดินทางในสังสารวัฏอันยาวไกลด้วยความสุข ส่วนกุศลคือความฉลาด”

หลวงพ่อยกตัวอย่างให้ฟัง คือคุณแม่ ตั้งแต่อยู่สวนโพธิ์ยังไม่ได้บวช 2 คนกับพระอาจารย์อ๊า พอญาติโยมมา ตอนเช้าหลวงพ่อเทศน์รอบแรกก่อน เทศน์รอบที่หนึ่งเสร็จประมาณครึ่งชั่วโมง 7 โมงครึ่งถึง 8 โมงก็เบรกกินข้าว หลวงพ่อก็ฉันข้าว ส่งถาดออกไปข้างล่าง ที่นี่ก็เหมือนกัน พระฉันข้างบนแล้วก็ส่งอาหารลงไปข้างล่างแล้วโยมก็ไปกินข้าว

พอโยมกินข้าวเสร็จแล้ว โยมก็จะมาช่วยกันล้างจาน แต่ตอนนั้นโยมมันยังไม่เยอะนัก คุณแม่กับพระอาจารย์อ๊าก็จะบอกโยม บอกให้ขึ้นไปฟังธรรมรอบสาย รอบ 9 โมง ให้ขึ้นไปฟัง เดี๋ยวงานพวกนี้ 2 คนจัดการเอง คุณแม่กับอาจารย์อ๊าก็ล้างถ้วยล้างชามอะไร ไม่ได้ฟังหลวงพ่อเทศน์ แล้วตอนนั้นก็ไม่มีการอัดเทปอะไรทั้งสิ้น ไม่ได้ฟังธรรม ทำงานช่วยเหลือให้พวกเราที่ไปยุคโน้นได้ฟังธรรมให้เต็มที่ ไม่ต้องมาเสียเวลา

บางวันล้างจานกันถึงเที่ยงเลย แล้วไม่ได้ล้างในร่มด้วย ตอนนั้นไม่มีหลังคาตรงนั้น แดดเปรี้ยงๆ ตัวดำปี๋เลย คุณแม่ก็เล่าว่าเวลาเห็นคนเขาภาวนา ดูเขาเบิกบานสดชื่น เขามีความสุขแล้ว เห็นแค่นี้ก็มีความสุขแล้ว อิ่มเอิบใจ ได้สงเคราะห์เขา ได้ช่วยเขา ให้โอกาสเขาได้ฟังธรรมอะไรอย่างนี้ ใจที่คิดจะให้ๆ กับใจที่คิดจะเอา ผลมันไม่ได้เท่ากัน เพราะใจที่คิดจะให้มันลดละความเห็นแก่ตัว พอมาลงมือทำจริงจัง มาปฏิบัติจริงจัง มันไปลิ่วเลย มันไปได้ง่ายๆ เลย ไม่ได้ลำบากยากเย็นอะไรเลย เพราะใจมันพร้อมที่จะสละออกอยู่แล้ว

ที่เล่าให้พวกเราฟังเพื่อว่าพวกเราอยู่กับโลก เป็นฆราวาสจะได้หัดวางใจให้มันถูก ในสถานการณ์อันเดียวกัน คนหนึ่งได้บุญแต่อีกคนหนึ่งได้บาป ทำในสิ่งเดียวกัน คนหนึ่งได้บุญ คนหนึ่งได้บาป ทีนี้เรารู้หลัก มีสติมีปัญญา เราทำอะไรก็ให้มันเกิดบุญไปเรื่อยๆ บุญเป็นที่พึ่งอาศัยในการเดินทางไกลในสังสารวัฏ ส่วนกุศลเป็นเครื่องพาเราออกจากสังสารวัฏ มันคนละระดับกัน บุญคือการสร้างคุณงามความดีทั้งหลาย ผลเป็นความสุข เราจะเดินทางในสังสารวัฏอันยาวไกลด้วยความสุข ส่วนกุศลคือความฉลาด

ความฉลาดคืออะไร คือการเห็นความจริง โลกนี้เป็นอย่างนี้ล่ะ กายนี้ใจนี้เป็นอย่างนี้ล่ะ เป็นอะไร เป็นไตรลักษณ์ ถ้าอย่างนี้ เป็นกุศลชั้นสูงเลย เป็นปัญญา กุศลก็คือเรื่องของศีลนั่นล่ะ ส่วนใหญ่ เรื่องของศีล เรื่องของสมาธิ เรื่องปัญญานั่นล่ะ ในสถานการณ์อันหนึ่ง คนหนึ่งเกิดบาปอกุศล คนหนึ่งได้บุญ คนหนึ่งได้ทั้งบุญได้ทั้งกุศล อยู่ที่ความรู้ความเข้าใจของเรา เพราะฉะนั้นหัดวางจิตวางใจให้ดี วางจิตวางใจให้ถูก หันซ้ายหันขวา มีบุญมีกุศลได้ทั้งนั้น


อย่างหลวงพ่อเดิน ยกตัวอย่าง ทำไมยกตัวอย่างหลวงพ่อเรื่อยๆ ก็ไม่รู้จะไปยกใคร หลวงพ่อเดิน ทั้งๆ ที่เป็นฆราวาสหลวงพ่อเดินดูพื้น เวลาเดินจะเดินดูพื้น ไม่เดินดูยอดไม้อะไร ไม่ได้เดินอย่างนั้นหรอก ทำไมเราสำรวมตาเรา เราหันซ้ายหันขวาไป ใจก็ฟุ้งซ่านวอกแวกไป เดี๋ยวก็ไปเหยียบมดตาย เดี๋ยวไปเหยียบแมลงโน้นแมลงนี้ เหยียบไส้เดือน เหยียบหอยทาก ทุกก้าวที่เดินไป รู้สึกตัวไป สายตาเราก็ทอดลงต่ำ สำรวมระวัง

ฉะนั้นทุกก้าวที่เดินเป็นบุญเป็นกุศลไปหมดเลย แค่เดินเฉยๆ ยังเกิดบุญได้เลย เกิดกุศลได้ด้วย เรามีสติรู้สึกกายรู้สึกใจตามที่มันเป็น เป็นกุศลใหญ่เลย แล้วการที่เราเดินด้วยความระมัดระวัง เรากลัวจะไปเหยียบสัตว์ ไม่ใช่เพราะกลัวบาป แต่กลัวสัตว์มันเจ็บ กลัวสัตว์มันพิการ อันนี้เป็นความเมตตา เป็นความกรุณา แค่เดินบนถนนก็ทำให้เป็นบุญได้แล้ว ฉะนั้นถ้าเรารู้หลักของการปฏิบัติจริงๆ จะหันซ้ายหันขวา มันก็เป็นบุญได้หมด เป็นกุศลได้หมด

อย่างเรานั่งอยู่เฉยๆ มันมีบุญอะไร นั่งอยู่เฉยๆ ทำผิดศีลไหม ไม่ได้ทำผิดศีล ไม่ได้ยุ่งอะไรกับใครด้วยซ้ำไป มีศีลอัตโนมัติอยู่ในตัวเองแล้ว นั่งอยู่ จิตใจไม่วอกแวกไป มีสมาธิไหม มี ได้บุญไหม ได้ แล้วเขยิบขึ้นไป นั่งแล้วเห็นรูปมันนั่ง จิตมันเป็นคนรู้ รูปไม่ใช่ตัวเราอะไรอย่างนี้ เป็นกุศลอย่างใหญ่เลย คือเป็นกุศลที่ประกอบด้วยปัญญาอย่างยิ่งเลย เป็นวิปัสสนาปัญญา แค่นั่งเฉยๆ ก็ได้บุญใหญ่ ได้กุศลใหญ่ได้ นี่ยกตัวอย่างให้ฟังพอจะเข้าใจไหม


Minifloral9.png


ฉะนั้นคำว่าไม่มีเวลาปฏิบัติไม่มีในสารบบของเราหรอก หลวงพ่อถึงเคยบอกไว้ตั้งแต่นานแล้วว่านักปฏิบัติไม่เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อมหรอก สภาพแวดล้อมจะเป็นอย่างไร เราปฏิบัติได้ทั้งนั้น ในสภาวะที่แย่ๆ ในสถานการณ์ที่ย่ำแย่ เราก็ปฏิบัติได้

หลวงพ่อเคยเป็นมะเร็ง ไปอยู่โรงพยาบาลตั้งหลายเดือน ให้คีโมตั้งหลายรอบ แล้วรอบสุดท้ายเขาจะปลูกถ่ายไขกระดูก มันเป็นการให้ยาเคมีที่รุนแรง ทำลายไขกระดูกเลย เซลล์ต่างๆ ถูกทำลาย ถามว่าทุกข์ทรมานไหม โห ทรมานมาก แต่เราก็มีปัญญา เห็นร่างกายมันป่วย ใจเราไม่ได้ป่วยด้วย เฝ้ารู้เฝ้าดูไป บุญกุศลมันหล่อเลี้ยงอยู่ตลอดเวลา

ทีนี้ก็ตั้งใจ ปกติอยู่ในห้องปลอดเชื้อ ห้องความดัน ความดันสูง มันอัดลมเข้ามาตลอดอุณหภูมิก็ต่ำ อยู่ระหว่าง 19 ถึง 22 องศา แล้วลมแรงทั้งวันทั้งคืน โหย ทรมานมากเลย เขาทำอย่างนั้นเพื่อว่าไม่ให้เชื้อโรคมันโต เพราะร่างกายเราไม่มีภูมิต้านทานเหลืออยู่แล้ว ปกติเขาจะอยู่กันเดือนครึ่ง 2 เดือน 3 เดือน บางคนอยู่หลายเดือนเลย ออกมาไม่ได้ หลวงพ่อตั้งใจว่าจะต้องออกวันนี้ล่ะ 28 วัน ออกมาแล้ว ออกมาได้ เพราะจิตของเรามันมีสมาธิ มันไม่ท้อแท้ มันไม่หดหู่ ไม่ปล่อยให้ความเศร้าหมองครอบงำ จิตใจมันมีความสุข มีความเบิกบานอยู่

เราก็นึกถึงบุญของเรา นึกถึง มีฉันทะว่าเรายังอยากทำงานรับใช้พระพุทธเจ้าต่อไปอีก มีฉันทะ แล้วมีวิริยะทำอานาปนสติ ใช้ลมฟอกธาตุฟอกขันธ์ไป มีจิตตาคือมีจิตที่เด็ดเดี่ยวมั่นคง ทรงสมาธิอยู่ มีวิมังสา พิจารณาค้นคว้าใคร่ครวญลงไปในร่างกายด้วยจิตที่ตั้งมั่น เป็นกลาง แล้วอธิษฐานจิตเอาว่าจะออกแล้ว ถึงเวลามันก็ออกมาได้ เพราะฉะนั้นในที่ทุกที่แม้กระทั่งที่ที่แย่ที่สุด ที่ที่ลำบากที่สุด ในสถานการณ์ที่ยากลำบาก เราไม่ทิ้งธรรมะ ธรรมะก็ไม่ทิ้งเราหรอก

ฉะนั้นพัฒนาจิตใจตัวเองให้เข้มแข็ง คำว่า ท้อแท้ หดหู่ เบื่อหน่าย โยนมันทิ้งไปเลย อย่าให้อยู่ในสารบบของนักปฏิบัติ ท้อใจ ท้อๆๆ ท้อมันทำไม ความท้อแท้ ความเบื่อหน่าย มันก็เป็นสิ่งที่ถูกรู้อันหนึ่งเท่านั้น เกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วก็ดับไป พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ เราก็จะใกล้ฝั่งเข้าไปเรื่อยๆ ไม่ใช่ไม้ใกล้ฝั่งที่แปลว่าใกล้ตาย ใกล้ฝั่งคือใกล้ความพ้นทุกข์เข้าไปทุกที

วันนี้เทศน์ให้ฟังเท่านี้ คงไม่ยากเกินไป บางคนบ่นว่าหลวงพ่อเทศน์อะไรยากๆ วันนี้เทศน์เอาใจตลาด แต่ดูแล้วมันก็ยากเหมือนกัน การจะวางใจให้ถูกในทุกๆ สถานการณ์ ถ้าไม่มีสติ ไม่มีปัญญา มันก็วางไม่ได้หรอก การฟังนี้ก็จะได้รู้แนวทางไป แล้วก็มีสติคุ้มครองจิตตัวเองไป รู้แนวทางมันก็ได้ปัญญา ไปทำเอา ชีวิตจะได้ร่มเย็น ไม่ท้อแท้ ไม่หดหู่ ไม่เบื่อหน่าย อย่างอยู่กับโลก เบื่อ เบื่อก็ต้องทำ มันจำเป็นต้องทำก็ต้องทำไป ระหว่างทำไปเบื่อไปกับทำไปแล้วจิตเป็นกุศลไป เป็นบุญไป ก็เลือกเอา ก็แล้วแต่ความสามารถของเราแล้วล่ะ

หลวงพ่อปราโมทย์ ปาโมชฺโช วัดสวนสันติธรรม 29 มกราคม 2566